“หมอเทียม” เผย รองนายกฯ รับข้อเสนอ สมสส.แล้ว รอร่าง พ.ร.บ. ส่ง ครม.พิจารณาต่อ ยอมรับข่าวจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นทะเบียน สร้างความสับสน หวั่น สปสช.บริหาร เหตุ สมสส.ต้องเป็นกลาง ไม่ขึ้นกับกองทุนใด พร้อมแจงงบดำเนินการ สมสส. ใช้น้อยมาก คุ้มค่าประโยชน์ที่จะได้รับ
นพ.เทียม อังสาชน
นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) และที่ปรึกษา รมช.สธ. เปิดเผยถึงการจัดตั้ง “สำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.)” ว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง แล้วจึงจะนำเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติ ซึ่งหลักการของหน่วยงานนี้ คือการทำข้อมูลการเบิกจ่ายระหว่างหน่วยบริการและกองทุนรักษาพยาบาลให้กับทุกระบบ โดยยึดในเรื่องความเป็นกลางเป็นหลัก ต้องไม่ขึ้นอยู่กับกองทุนใดกองทุนหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจในการจัดทำข้อมูลเบิกจ่าย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการรักษาพยาบาลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์จึงต้องมีความเป็นกลางมากที่สุด ไม่เช่นนั้นในที่สุดระบบจะเดินไปไม่ได้
นพ.เทียม กล่าวว่า ในช่วงที่มีข่าวความสับส่วนระหว่างการจัดตั้งหน่วยงานการบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน” (National beneficiary registration center) กับการจัดตั้งหน่วยงาน สมสส.นั้น ในระดับคนที่อยู่ในแวดวงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเข้าใจความแตกต่างการจัดตั้งทั้ง 2 หน่วยงานดีที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยหน่วยงานการบริหารจัดการระบบทะเบียนสิทธิฯ ทำหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับทุกกองทุน แต่กระทบผู้ที่ไม่ทราบและอาจทำให้เกิดความสับสน โดยกังวลและเข้าใจว่า สมสส. นี้จะไปอยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แต่ขณะนี้เชื่อว่าหลายฝ่ายคงเข้าใจแล้ว
นอกจากนี้ นพ.เทียม ยังได้ตอบข้อซักถามเพิ่มเติมกรณีงบประมาณในการจัดตั้งหน่วยงาน ที่ส่วนหนึ่งมาจากการจัดเก็บเงินค่าจัดทำข้อมูลเบิกจ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้ข้อมูลโดยประมาณว่าจะจัดเก็บการบริการข้อมูลผู้ป่วยนอกคิด 1 บาทต่อครั้ง ผู้ป่วยใน 5 บาทต่อครั้ง เป็นต้น ว่า ไม่ใช่ว่าหลังจัดตั้ง สมสส.แล้วกองทุนต้องมีการจ่ายในส่วนนี้เพิ่ม เพราะปัจจุบันทุกกองทุนก็มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม เพียงแต่ใครจะเป็นคนทำเท่านั้น ซึ่งเมื่อมี สมสส.ก็จะเป็นหน่วยงานกลางที่ดำเนินการให้ ซึ่งแม้แต่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเอง สปสช.ที่มีการจัดทำการเบิกจ่ายเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ซึ่ง สปสช.เองในการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (กองทุนรักษาพยาบาล อปท.) ก็มีการคิดค่าบริหารที่ร้อยละ 1 เช่นกัน
“หากดูภาพรวมจะเห็นว่า เป็นการจัดตั้งหน่วยงานที่ใช้งบประมาณดำเนินงานน้อยมาก โดยใช้งบจากภาครัฐเพียงแค่ 200 ล้านบาท และเป็นงบที่มาจากค่าจัดเก็บบริการทำข้อมูลเบิกจ่าย โดยรวมแล้วจะมีงบดำเนินการเพียงแค่ 300-400 ล้านบาทต่อปี ถือว่าไม่มากหากเปรียบเทียบกับภารกิจที่ดำเนินการ รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ที่เป็นฐานข้อมูลสุขภาพ ทั้งยังได้รับความเชื่อถือเพราะดำเนินการโดยหน่วยงานกลางด้วย” นพ.เทียม กล่าว
- 6 views