“หมอเทียม”ค้านให้ บ.ประกันคุมเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ขรก. เชื่อไม่ดีกว่าระบบปัจจุบัน แนะให้เร่งคุมค่ารักษาผูู้ป่วยนอกที่เป็นปัญหาอยู่ รวมทั้งเชือดพวกทุจริตเวียนเทียนเบิกยาไปขาย
นพ.เทียม อังสาชน
นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับความพยายามเปลี่ยนระบบการเบิกค่าจ่ายค่ารักษาสวัสดิการข้าราชการ มาให้บริษัทประกันดูแล ตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ เพราะไม่เชื่อว่า เอกชนหรือบริษัทประกันจะทำได้ดีกว่าระบบปัจจุบัน
ทั้งนี้ การให้บริษัทประกันมาดูแล เคยทำมาแล้วจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่ใช้งบประมาณกว่า 8 พันล้านบาท ปรากฎว่า เอกชนมีค่าบริหารจัดการค่อนข้างสูง ประมาณ 30-40% ถ้าเป็นอย่างนี้ หมายความว่า หากรัฐบาลยกเงิน 7 หมื่นล้านบาทจากงบประมาณที่ใช้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไปให้บริษัทประกัน รัฐบาลก็ต้องเตรียมเงินอีก 30-40% สำหรับการบริหารจัดการให้กับบริษัทประกัน และที่บอกว่า บริษัทประกันจะไม่เอากำไร ก็เป็นไปไม่ได้
“ถ้าบริษัทประกันเอาเค้กก้อนนี้ไปแล้ว จะไม่แบ่งไปกินกันหรือ ถ้าแชร์ไป 30% เงินที่มารักษาข้าราชการก็ลดลง ตรงนี้เชื่อว่า จะกระทบต่อสวัสดิการของข้าราชการแน่นอนเพราะข้อมูลจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ก็เห็นชัดเจนว่า สร้างเงื่อนไขในการเบิกจ่ายเยอะแยะ เช่น ต้องมีการแจ้งความ ทำให้ข้าราชการเบิกยากขึ้น” นพ.เทียม กล่าว
นพ.เทียม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าบริษัทประกันจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะมาควบคุมค่าใช้จ่าย ยกเว้นจะคุมวงเงินการเบิกของข้าราชการ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทประกันจะใจดี ทำการกุศลให้ เชื่อว่าสุดท้ายข้าราชการก็ต้องมาร่วมจ่ายด้วย
นพ.เทียม กล่าวว่า ความจริงวงเงิน 6-7 หมื่นล้านบาทกับค่าเบิกจ่ายรักษาพยาบาลของข้าราชการ ในจำนวนนี้ไม่ถึง 30% เป็นค่ารักษาผูู้ป่วยในซึ่งไม่เป็นปัญหา ในส่วนของผู้ป่วยใน ถ้าดูข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า การเบิกจ่ายส่วนนี้กรมบัญชีกลางสามารถคุมอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางพยายามออกมาตรการควบคุม ซึ่งอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะการคุมค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกที่ต้องเป็นปลายปิดได้ เพราะปัจจุบันระบบเบิกจ่ายผู้ป่วยนอกยังเป็นลักษณะ Free for Service หมายถึง โรงพยาบาลเรียกมาเท่าไร ก็จ่ายไปตามนั้น สุดท้ายเชื่อว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องมีการควบคุม คงจะเบิกอย่างนี้ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการพัฒนา รวมทั้งการเตรียมสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา และรัฐบาลต้องยอมลงทุนที่จะสร้างหน่วยที่มาพัฒนา รวมถึงมาตรฐานระบบข้อมูลด้วย
นพ.เทียม กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่กระทรวงการคลังออกมาระบุ คือ มีการทุจริตจากการเวียนเทียนเบิกจ่ายยา เอายาไปขาย หรือเบิกยาซ้ำซ้อน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ยากและไม่ต้องเปลี่ยนให้บริษัทประกันทำ กระทรวงการคลังต้องแก้ปัญหาด้วยการเชือดข้าราชการที่ทุจริตก็จบแล้ว เพราะมีข้อมูลหมดว่า ใครเบิกจ่ายเกินเท่าไร แต่เชื่อว่า มีข้าราชการไม่มากที่ร่วมทุจริต และก็มีการฟ้องร้องอยู่ อยู่ที่รัฐบาลจะมีนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้ชัดเจนแค่ไหน ข้าราชการเองก็ต้องมีส่วนช่วยรัฐบาลเพื่อควบคุมเบิกจ่ายค่ารักษาด้วย
- 11 views