ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบแนวทางจัดงบกองทุนบัตรทองให้ รพ.ที่มีปัญหางบไม่พอ และเพิ่มงบชดเชยค่าตอบแทนบุคลากร 3 จว.ใต้ ให้ สธ.-สปสช.พิจารณาปรับกลไกบริหาร-ใช้งบ ตามที่ คตร.เสนอ หลัง คตร.ตรวจพบนำงบในส่วนเหมาจ่ายรายหัวไปใช้สร้าง-ซ่อมแซมอาคาร จ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ส่วน 3 กองทุนสุขภาพ เห็นชอบจัดการองค์กรให้มีมาตรฐานสอดคล้องกัน ใช้ไอทีร่วมกัน
ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงการพิจารณาร่วมกันระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดังนี้ 1.การจัดกลไกในการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนให้มีความชัดเจน โปร่งใส โดยมีแนวทางที่เสนอต่อ ครม.เศรษฐกิจใน 2 แนวทางคือ 1.การแก้ไขปัญหาสถานพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอในการให้บริการเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 137 แห่ง วงเงิน 866 ล้านบาทเศษ โดยมี 3 ส่วนคือ 1.Contact Unit For Primary Care (CUP) หรือสถานพยาบาลที่มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยใช้เกณฑ์จัดสรรส่วนเพิ่มตามค่าใช้จ่ายจริง 2.สถานพยาบาลพื้นที่เฉพาะระดับ 2 มีด้วยกัน 52 แห่ง ให้ได้รับส่วนเพิ่มอย่างน้อย 1 ล้านบาท 3.สถานพยาบาลที่มีพื้นที่เฉพาะระดับ 3 อีก 84 แห่ง ให้ทอนส่วนตามการจัดสรรงบประมาณส่วนที่เหลือ และ 2.ได้มีการเพิ่มเติมงบประมาณเพื่อชดเชยค่าบริการที่ลดลงจากการเพิ่มเงินเดือนแบบก้าวกระโดดของพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีพยาบาล 3,000 อัตรา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา วงเงิน 624 ล้านบาทเศษ
2.ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ สปสช.แก้ปัญหา กรณีการแบ่งเขตสุขภาพ โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต(อปสข.) โดยเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการจากโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) รวมเป็น 3 คน เพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์ หรือสาธารณสุข ด้านบริหาร ด้านการเงิน ด้านกฎหมายและด้านอื่นๆรวมเป็น 5 คน โดยให้มีองค์ประกอบทุกภาคส่วนในการทำงานอย่างเหมาะสม
3.นอกจากนี้ ครม. เศรษฐกิจ ยังได้ให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. พิจารณาบทบาทของ สปสช. ต่อจากนี้ไป คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เห็นว่าสมควรที่จะเร่งดำเนินการปรับปรุงกลไก ติดตามและกำกับดูแลให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
ทั้งนี้งบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ในการบริหารด้านสาธารณสุข คือการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล โดยจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายต่อหัวนั้น ที่ผ่านมา สปสช. ไม่ได้นำไปใช้บริการสาธารณสุขต่อประชาชนทั้งหมด แต่นำไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ เช่น การก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร ค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่มเติม และสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ ในหลักปฏิบัติแล้วต้องใช้จากงบบริหารจัดการ สปสช. หรือจากงบประมาณปกติของส่วนราชการ จึงควรพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการโดยตรงกับประชาชนเป็นหลัก
สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ
4.ส่วนในเรื่องกองทุนสุขภาพ 3 ระบบ คือ 1.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.ระบบประกันสังคม 3.ระบบรักษาพยาบาลของราชการ ครม.เสนอให้มีแนวทางในการจัดการองค์กรให้มีมาตรฐานสอดคล้องกัน ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกัน และควรพิจารณาความพอเพียงในการใช้งบประมาณในอนาคต และเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต.
ที่มา : เรียบเรียงจาก 1.นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 เมษายน 2558 จากข่าว 1.65 แสนล้านประกันสุขภาพ ครม.เพิ่มเหมาจ่ายรายหัว - 'ทีดีอาร์ไอ' ชี้แก้ปัญหาระยะสั้น 2.นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 17 เมษายน 2558 จากข่าว พบสปสช.ใช้ 'งบรายหัว' ผิดประเภท คตร.ตรวจเจอเอา 'เงินบัตรทอง' ไปสร้างอาคาร/ตอบแทนจนท./บริจาคมูลนิธิ
- 2 views