นสพ.เดลินิวส์ : กรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา นัดหารือกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อผู้ป่วยและ รพ. เอกชนก่อนนำผลเข้ารายงาน ครม. "กพย." วอนนายกฯ เร่งออก พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา เน้นเปิดเผยโครง สร้างราคายาคุมกลไกที่ต้นทาง "กมธ.สธ." ตั้งอนุ กมธ.ศึกษาค่ารักษา รพ.เอกชนแพง พร้อมวางมาตรฐานการบริการให้มีประสิทธิภาพ
นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 9 พ.ค. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กังวลถึงปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาล และค่ายาจากชาวต่างชาติสูงเกินจริง จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไข มี 3 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย แพทยสภาซึ่งได้จัดทำคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ที่ได้กำหนดเกณฑ์ค่าแพทย์และหัตถการที่เหมาะสมโดย 14 ราชวิทยาลัยไว้แล้วตั้งแต่ปี 2549 แต่ไม่รวมถึงค่าพยาบาลหรือค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ด้านอื่น กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาลในการกำกับคุณภาพและมาตรฐานของ รพ.ได้ให้สถานพยาบาลประกาศราคาค่ารักษาพยาบาลให้เป็นที่เปิดเผยเป็นระยะเวลานานแล้วก็จะเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการปฏิบัติให้มากขึ้น
และหน่วยงานสุดท้ายคือกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่รับเรื่องร้องเรียนกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล โดยบังคับใช้ ก.ม.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่เป็นธรรมและตรวจสอบความเหมาะสมและต้นทุนการให้บริการของสถานพยาบาลนั้น
"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ป่วยและสถานพยาบาลเอกชน รวมถึงอาจพิจารณาปรับปรุงมาตรการหรือกฎระเบียบที่เกี่ยว ข้องเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและจะรายงานผลการหารือและผลการตรวจสอบให้ ครม. ทราบต่อไป" นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การให้บริการของรพ.เอกชน ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคซึ่งต้นทุนในการประกอบกิจการมีความแตกต่างกันและถือเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังควรต้องพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชนของไทยกับ รพ.เอกชน ในระดับเดียวกันของประเทศอื่นที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์ทัดเทียมกับไทยว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรด้วย
ส่วนกรณีผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่ รพ. เอกชน จะมีการประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลล่วงหน้าตามข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้นที่มีอยู่ แต่เมื่อมีการรักษาพยาบาลหรือการผ่าตัดเกิดขึ้นแล้วอาจพบว่าผู้ป่วยจำต้องได้รับการรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติมจากที่ได้ประเมินไว้ ซึ่งส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้มากก็ขอให้ รพ.เอกชน ชี้แจงกับผู้รับบริการล่วงหน้าก่อนเริ่มให้การรักษาเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งนี้หากผู้ใช้บริการ รพ.เอกชน มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับราคายาหรือค่ารักษาพยาบาลสามารถติดต่อได้ที่กระทรวงพาณิชย์หรือสายด่วน 1569
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวทาง กมธ. ได้รับทราบมาเช่นกันจึงได้ตั้งอนุกรรมาธิ การศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการศึกษาปัญหาค่ารักษาพยาบาลและมาตรฐานของ รพ.เอกชน รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมให้ประชาชนที่รับบริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
"รพ.เอกชน ขณะนี้ถือเป็นแหล่งหนึ่งที่ทำรายได้เข้าประเทศ เพราะต่างชาติจะเดินทางเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก เนื่องจากราคาถูก คุณภาพการบริการดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่หากคิดราคาแพงก็จะเป็นไปตามหลักของดีมานด์ ซัพพลาย ไม่มีใครเข้ามาใช้บริการรายได้ก็ต้องลดลง" นพ.เจตน์ กล่าว
ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผจก.แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) กล่าวว่า ปัญหา รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคายาสูงกว่าท้องตลาดจำนวนมากและปัจจุบันมีการผูกขาดยา ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียกร้องและผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่บรรจุเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายาลงไปด้วย เพื่อให้ทราบต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตยา แต่ถูกขัดขวางมาตลอดโดยอ้างว่าเหตุที่ยาแพงเป็นเพราะการลงทุนศึกษาวิจัย แต่อันที่จริงมีการศึกษาพบว่าเหตุที่ยามีราคาแพงเป็นเพราะลงทุนส่งเสริมการขายมากกว่า ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่าน มา กพย. จึงได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์เพื่อขอให้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่โดยเน้นในเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายาเพราะสำคัญมาก
"นอกจากนี้ปัญหายาแพงยังเกิดจากการควบคุมที่ปลายเหตุที่มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล โดยอาศัย พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการควบคุมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการบังคับให้ติดราคาสินค้าและห้ามขายเกินราคาที่กำหนด ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานกลับไม่มีจึงถือเป็นปัญหาด้วย" ภญ.นิยดาระบุ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้ติดต่อไปยังสมาคม รพ.เอกชน เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงแนวทางการดูแลมาตรฐานการเก็บค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน แต่ได้รับการปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เป็นการโต้ตอบกันไปมาเพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม.
ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
- 4 views