องค์การสหประชาชาติได้ประเมินสถานการณ์ว่าปี พ.ศ. 2544-2643 (2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ หมายถึงการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรรวมทั่วโลกและมีแนวโน้มว่าประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีฐานะยากจน เป็นประเด็นท้าทายทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศจะต้องมีแผนรองรับ สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 (2005) โดยมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ10.4 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี 2567-2568 (2024-2025)
หากย้อนกลับไปดูนิยามของผู้สูงอายุ (Older person) องค์การสหประชาชาติได้นิยาม ผู้สูงอายุ หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปและได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ การคาดการณ์ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในศตวรรษแห่งผู้สูงอายุช่วงปี 2001-2100 นั้น แต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์ การโภชนาอาหาร
จากตารางแสดงเปรียบเทียบการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นตัวอย่างประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่เร็วกว่าประเทศอื่นๆตามมาด้วยประเทศอิตาลี เยอรมันและสวีเดน
กล่าวได้ว่า ผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดี มีโภชนาการทางอาหารที่ถูกหลักอนามัย ประชากรมีมาตรฐานชีวิตที่ดี มีการศึกษา มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแพทย์ ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น อัตราการตายลดลง ประชากรมีอายุยืนยาวจนทำให้โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเห็นได้จากปิรามิดของประชากรโลก แสดงถึงโครงสร้างของประชากรโลกเปลี่ยนไปในช่วงของผู้สูงอายุขยายมากขึ้น ตั้งแต่ ปี 2010
ปิรามิดของประชากรโลก แสดงโครงสร้างของประชากรโลก ในช่วง 1950-2100
นอกจากนี้ ในสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากขึ้นทั่วโลกจะมาจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา สังเกตได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจะมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ ทำให้รัฐบาลสามารถพัฒนาทางด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลได้อย่างทั่วถึง มีระบบสวัสดิการทางสังคมที่ดีส่งผลให้ประชาชนมีมาตรฐานชีวิตที่ดีกว่าประเทศด้อยพัฒนา จึงทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีโอกาสเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้เร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทางด้านการแพทย์ จึงทำให้มียารักษาโรคที่ทันสมัย มีโภชนาการทางด้านอาหาร อนามัยสาธารณะสุขที่ดี ประชากรจึงมีอายุยืนมากขึ้น อัตราการตายลดลงในขณะที่อัตราการเกิดก็น้อยลงด้วย ดังนั้นจากภาพอายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลก ช่วงปี 2005-2010 จะสังเกตได้ว่าประชากรในแถบทวีปอเมริกา ยุโรปและ ญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีอายุขัยเฉลี่ยสูงสุดมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ กล่าวคือมีอายุขัยเฉลี่ย 77.2-81.5 ปี (พื้นที่สีเขียวเข้ม) ในขณะที่ประเทศในแถบแอฟริกาซึ่งถือว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศด้อยพัฒนา มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 41.5-50.7 ปี(พื้นที่สีฟ้าและน้ำเงิน)
Average Life Expectancy Across the Globe (Years)
อายุขัยเฉลี่ยของประชากรหรืออายุคาดเฉลี่ยของประชากรทั่วโลก ช่วงปี 2005-2010
เขตพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนร้อยละของประชากรทั้งหมดช่วงปี 2005-2010
จากภาพ แสดงเขตพื้นที่ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุช่วงปี 2005-2010 ได้แก่ พื้นที่สีส้มและสีแดง กล่าวคือ มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ10ของประชากรทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมาก นอกจากนั้นส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งประเทศด้อยพัฒนายังไม่ประสบกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ
ผลกระทบและการเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญ แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วโลกนั้น เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้นย่อมส่งผลทำให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง การออมลดลง รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลและปฐมพยาบาลผู้สูงอายุมากขึ้น หากไม่มีการเตรียมความพร้อมการจัดสรรทรัพยากรแรงงานที่จะลดลงจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้รายได้ประชาชาติลดลงได้ ดังนั้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ ควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชนและประเทศ โดยเฉพาะการร่วมกันกระตุ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการเตรียมวางแผนการออม การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้านสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุ เช่นในหลายประเทศได้มีการขยายอายุผู้เกษียณอายุและเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทำ
เก็บความและภาพจาก
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, บทความเรื่อง สังคมผู้สูงอายุ : นัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
แหล่งที่มา : http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html
- 7001 views