สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือ สปช. ออก กม.คุ้มครองสิทธิ “พยาบาล” ทั่วประเทศ พร้อมรายชื่อพยาบาลกว่า 3 พันคน คาดมีอีกกว่าหมื่นคนที่พร้อมสนับสนุนเพิ่มเติมหลังมีขาวเผยแพร่ แจงเหตุไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพการทำงานที่ดี ทั้งที่มีความเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพสูง พร้อมเตรียมยื่น สธ.ผลักดันต่อ  

    

น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการยื่นข้อเสนอ “ร่างแนวทางการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ” ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อผลักดันให้ออกกฎหมายคุ้มครองพยาบาลในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการในระบบสุขภาพทั่วประเทศว่า วานนี้ (8 เม.ย.) สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนพยาบาลจากทั่วประเทศกว่า 100 คน ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิแรงงานของพยาบาล พร้อมด้วยรายชื่อพยาบาลกว่า 3,000 คน ต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. และนางทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. ในฐานะนายกสภาการพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมาพยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานในหน่วยบริการภาครัฐ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามตามกฎหมายแรงงาน มีเพียงพยาบาลที่ทำงานในภาคเอกชนส่วนน้อยที่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมในมาตรา 44 ที่กำหนดให้บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน จึงควรมีการออกฎหมายที่คุ้มครองพยาบาลด้วย

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า การที่พยาบาลออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพื่อให้สังคมรับรู้นอกจากภาระการทำงานของพยาบาลแล้ว พยาบาลยังต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออันตรายด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสารกัมมันตรังสี สารเคมีที่ใช้ในการรักษา ยาเคมีบำบัด ยาสลบในรูปของก๊าซที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ประกอบกับการขาดการดูแลทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานที่ส่งผลต่อสุขภาพ และที่ผ่านมามีพยาบาลจำนวนมากที่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เช่น การติดเชื้อวัณโรคปอด และตับอักเสบจากผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุกรณีที่ต้องออกไปรับหรือส่งต่อผู้ป่วย ประจำหน่วยฉุกเฉิน ขณะเดียวกันกลับขาดการดูแลสวัสดิการที่จำเป็น

นอกจากนี้จากปัญหาขาดแคลนบุคลากรในระบบสาธารณสุขรวมไปถึงปัญหาการกระจายกำลังคน โดยในส่วนของพยาบาลพบว่า ความหนาแน่นของพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันถึง 4 เท่า เมื่อวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนโดยใช้สัดส่วนพยาบาล 1 ต่อประชากร 500 คน จะพบว่ามีการกระจายตัวไม่สมดุล ทำให้พยาบาลที่ทำงานในภูมิภาคต้องทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ จากการอยู่เวรดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมและเกิดการเจ็บป่วย ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้มีพยาบาลส่วนหนึ่งต้องออกจากระบบไป จึงควรมีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการคุ้มครองพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งประเทศไทยขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีผู้ป่วยและผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรมีมาตรการเพื่อให้คงพยาบาลไว้ในระบบ

“วันนี้เราอยากให้กฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ ให้พยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชนได้รับหลักประกันคุ้มครองชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ทั้งค่าจ้าง วันทำงาน วันหยุด และการทำงานล่วงเวลา ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน และให้มีการชดเชยหากเกิดการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับที่กฎหมายแรงงานกำหนด” ประธานสหภาพพยาบาลฯ กล่าวและว่า ในการรวบรวมรายชื่อพยาบาลเพื่อผลักดันกฎหมาย ภายหลังจากที่มีข่าวออกไป ได้มีพยาบาลอีกจำนวนมาก ซึ่งคาดว่ามีจำนวนกว่าหมื่นคนที่พร้อมสนับสนุนเพิ่มเติม

  

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า สำหรับการเข้ายื่นหนังสือเมื่อวานนี้รองประธาน สปช.ได้แสดงความเห็นใจต่อพยาบาล และจะสนับสนุนผลักดันให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานพยาบาล พร้อมกับแนะนำให้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคงต้องมีการดำเนินการต่อจากนี้ และจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการออกกฎหมายคุ้มครองพยาบาลคงต้องใช้เวลา หากเป็นไปได้อยากให้มีการออกโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การออกมาเคลื่อนไหวของพยาบาลครั้งนี้อย่างน้อยก็มีความหวัง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย