ศาลปกครอง ไม่รับฟ้อง “พยาบาล สธ.” ยื่นขอความเป็นธรรม กรณีความก้าวหน้าวิชาชีพ เงินเดือนเหลื่อมล้ำและคุ้มครองสวัสดิภาพ หลังยืดเยื้อ 3 ปี เหตุล่วงเลยเวลาฟ้องร้อง ไม่อยู่ในอำนาจศาล แนะผู้ร้องสอดคดี 1.2 หมื่นคน เดินหน้าขอความเป็นธรรมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ

ภาพจากแฟ้มภาพ

น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย โดยตนในฐานะประธานสหภาพฯ และผู้ร่วมฟ้องจำนวน 113 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศใน 6 ประเด็นที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ในคดีหมายเลขดำที่ บ.125/2559 โดยมีผู้ร่วมร้องสอดคดีจำนวน 12,326 คน ซึ่งต่อมาศาลปกครอง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ได้มีคำสั่งแยกคดีและแยกผู้ฟ้อง และจากที่มีการแยกคำฟ้อง โดยคดีที่ศาลได้พิจารณา คดีหมายเลขดำที่ บ.85/2561 ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้ว

ทั้งนี้ 6 ประเด็นที่สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้ร้องขอความเป็นธรรม ประกอบด้วย

1. ความก้าวหน้าวิชาชีพและเงินเดือนเหลื่อมล้ำ เป็นผลจากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปรับจากระบบซีเป็นระบบแท่ง ทำให้ในส่วนของแท่งทั่วไปที่ไม่จบปริญญาตรีมีเงินเดือนมากกว่าแท่งวิชาการที่เป็นระดับชำนาญการและต้องจบปริญญาตรี ส่งผลให้เกิดเกความเหลื่อมล้ำ ทั้งหลายคนยังเงินเดือนตัน ทำให้ต้องมีการเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งต่อมา ก.พ.ได้มีการขยับเพดานเงินเดือน ทำให้ผู้ร่วมฟ้องคดีส่วนหนึ่งพอใจและถอนคำฟ้อง

2. ขอให้มีการจัดตั้ง “กรมพยาบาล” และให้มีการปรับโครงสร้างตำแหน่งวิชาชีพพยาบาลโดยให้มีตำแหน่งผู้บริหารทุกระดับ รวมถึงในระดับซี 8 และซี 9 ซึ่งพยาบาลเป็นบุคลากรวิชาชีพที่มีจำนวนมากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับไม่มีความก้าวหน้า มีตำแหน่งเฉพาะในระดับปฏิบัติการที่เป็นมดงาน จึงควรมีตำแหน่งทางบริหารด้วย

3. จัดตั้ง “กองทุนทดแทน” เพื่อคุ้มครองคนทำงานในระบบภาครัฐเช่นเดียวกับลูกจ้างแรงงานในภาคเอกชน ก่อนหน้านี้ทางสหภาพฯ ได้ยื่นเรื่องนี้ไปที่กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้มีการออกกฎหมายที่คุ้มครองลูกจ้างชั่วคราวทุกคนที่ต้องมีกองทุนเงินทดแทน มีผลวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 แต่ไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการส่วนราชการ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง พ.ร.บ.สงเคราะห์ข้าราชการผู้ได้รับอันตรายหรือการป่วยเจ็บเพราะเหตุปฏิบัติราชการที่ล้าหลัง ส่งผลให้กรณีเมื่อเกิดอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานข้าราชการไม่ได้การคุ้มครอง

4.จัดตั้ง “สหภาพข้าราชการ” ให้มีการคุ้มแรงเหมือนแรงงานตามรัฐธรรมนูญ โดยเรื่องนี้ได้เคยมีการออกกฎหมายลูกมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ จึงทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป จึงอยากให้มีการรื้อฟื้นเพื่อที่ข้าราชการจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเอกชนและรัฐวิสาหกิจ

ส่วนประเด็นที่ 5 และ 6 เป็นเรื่องค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและค่าตอบแทนพิเศษ ฉบับที่ 10 และ 11 ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพอย่างมาก ทั้งที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกัน

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า เหตุที่ศาลไม่รับฟ้อง เนื่องจากว่าแม้จะเป็นประธานสหภาพฯ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในบางประเด็นยังล่าช้าเกินจากห้วงเวลาและไม่อยู่ในอำนาจศาลพิจารณา ซึ่งในการฟ้องร้องครั้งนี้เนื่องจากมีผู้ร้องสอดคดีด้วย จึงขอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบยื่นฟ้องเพื่อขอความเป็นธรรมในฐานะผู้เสียหายโดยตรง ขณะที่ทางสหภาพพยาบาลฯ จะขับเคลื่อนเพื่อขอความเป็นธรรมให้เกิดการคุ้มครองและดูแลพยาบาลต่อไป

“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่ต่างตั้งใจและมุ่งมั่นปฏิบัติงานดูแลคนไข้ จนกระทั่งไม่ได้ดูในเรื่องสิทธิต่างๆ ความก้าวหน้า และสวัสดิภาพที่ควรได้รับการดูแล แม้แต่ในเรื่องกฎหมายเราก็ไม่มีความรู้ ต้องใช้เวลาศึกษา ซึ่งบางประเด็นไม่อยู่ในอำนาจศาล และบางประเด็นก็ล่วงเวลาที่จะฟ้องร้องได้” ประธานสหภาพพยาบาลฯ กล่าว