สหภาพพยาบาลยื่นหนังสือถึง ‘บวรศักดิ์’ เรียกร้องสิทธิพยาบาล เผย กม.แรงงานไม่คุ้มครองพยาบาล รพ.รัฐ คุ้มครองแต่ พยาบาล รพ.เอกชน แถมสวัสดิการต่ำ ไม่มีความมั่นคง ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ เสนอ 5 ข้อ บรรจุพยาบาลเป็น ขรก.ทุกคน ค่าตอบแทนเป็นธรรม ไม่มีเพดานเงินเดือน สวัสดิการกองทุนเมื่อเกษียณอายุหรือเสียชีวิต ปรับโครงสร้างให้สามารถขึ้นผู้บริหารสูงสุดได้ ชี้มาให้กำลังใจ สปช. เชื่อ รองประธานสปช.เป็นนายกสภาการพยาบาลน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า 8 เม.ย. 58 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่อาคารรัฐสภา 3 น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือเรื่องการเรียกร้องสิทธิของพยาบาล ต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. เป็นผู้รับ
น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิชาชีพพยาบาลไม่ได้รับความปลอดภัย มั่นคง เพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้คุ้มครองโรงพยาบาลรัฐบาล คุ้มครองแต่โรงพยาบาลเอกชน ถ้าไม่มีกฎหมายตรงนี้พยาบาลเสี่ยง หากเสียชีวิตไม่ได้รับการคุ้มครอง พยาบาลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสี่ยงภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการติดโรคจากผู้ป่วย ยิ่งตั้งครรภ์ด้วยก็ทุกข์ มีวิจัยว่าพยาบาลขึ้นเวรไม่ได้นอน 15 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าวิชาชีพอื่น พยาบาลบรรจุเป็นแค่ลูกจ้างรายวัน ไม่มีประกันสังคม ขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลใหญ่มีพยาบาล 800 กว่าคน เป็นระดับซี 7 เพียง 500 คน ค่าตอบแทนต่ำ สวัสดิการไม่มี ทั้งๆ ที่พยาบาลเป็นบุคลากรที่มีจำนวนมากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข วันนี้มาให้กำลังใจประธาน สปช. และรองประธาน สปช. นางทัศนา บุญทอง ซึ่งเป็นนายกสภาการพยาบาลด้วย อยากให้ประชาชนได้รับรู้ว่าพยาบาลลำบากใจตรงไหน
ด้าน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นใจและจะนำเสนอให้ประธาน สปช. และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข และรองประธาน สปช. ซึ่งเป็นนายกสภาการพยาบาลคงจะช่วยผลักดันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือที่ยื่นดังกล่าวมีข้อเรียกร้องใน 5 ด้าน คือ 1.การบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ให้มีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการทุกตำแหน่ง บรรจุหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบุคคลที่มีคุณสมบัติของพยาบาลวิชาชีพเป็นพยาบาลวิชาชีพ 2.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ให้มีการปรับระดับเงินเดือนเทียบเท่ากับสายงานในกระทรวงอื่นๆ ได้รับค่าวิชาชีพ ปรับค่าตอบแทนเวร โอที และอื่นๆ 3.ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ให้ใช้ระบบเงินเดือนแบบแท่งที่ไม่มีเพดาน ประเมินผลงานเพื่อปรับตำแหน่ง การศึกษาต่อ 4.สวัสดิการในการทำงาน/สิทธิมนุษยชน ให้ได้รับการดูแลและจ่ายค่าชดเชยที่คุ้มค่าเมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ มีกองทุนสวัสดิการเมื่อเกษียณอายุหรือเสียชีวิต และดูแลเรื่องความปลอดภัยในการขึ้นเวร 5.ปรับโครงสร้าง ให้พยาบาลสามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ ทำงานตรงตามหน้าที่ และเพิ่มบุคลากรทางการพยาบาลหลายระดับเพื่อรับผิดชอบในงานที่แตกต่างกัน
- 37 views