นสพ.มติชน : ‘อัมมาร’ ไม่เห็นด้วยให้ประชาชนร่วมจ่าย ชี้เป็นการผลักภาระให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ระบุสิ่งที่ทำได้คือรัฐต้องหาเงินมาเติมระบบ แจง 2 สาเหตุเงินระบบสุขภาพไม่พอ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่าจ้างบุคลากรที่เพิ่มขึ้น เห็นด้วยเก็บภาษีสุขภาพ เผยระบบรักษาข้าราชการเอื้อให้เกิดการใช้สิ้นเปลือง หากต้องร่วมจ่ายควรจ่ายในระบบข้าราชการก่อน
เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายอัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานการทำงาน 3 กองทุนสุขภาพ กล่าวถึงการศึกษาระบบสุขภาพของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ที่สรุปให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ว่าไม่เห็นด้วยที่ให้ประชาชนร่วมจ่าย สิ่งที่ทำได้คือรัฐต้องหาเงินเข้ามาเติมระบบ เนื่องจากตอนนี้จะเห็นว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เงินในระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุนไม่พอนั้นมีอยู่ 2 สาเหตุ คือ 1.การที่ประเทศไทยเริ่มมีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นร้อยละ 2-4 โดยเฉพาะข้าราชการเพิ่มมากขึ้น ส่วนประกันสังคมน้อย เนื่องจากอายุเกิน 60 ปี ก็ต้องออกมาและอยู่ในสิทธิบัตรทองแทน 2.ค่าจ้างของบุคลากรที่มากถึงร้อยละ 5-6 โดยเฉพาะค่าตอบแทนเหมาจ่าย จะเห็นว่าตอนนี้อัตราเกือบเท่ากับเงินเดือนข้าราชการด้วยซ้ำไป ดังนั้นหลักการคือต้องพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้แทนการผลักภาระไปให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
นายอัมมาร กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอเก็บภาษีเพิ่มนั้นค่อนข้างจะเห็นด้วย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเก็บภาษีกันน้อยมาก ถ้าจะเพิ่มก็ควรจะเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 3-4 ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะได้เงินเข้าระบบสุขภาพมาก แต่จะช่วยเพิ่มรายได้เพื่อพัฒนาประเทศโดยรวมด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่คณะกรรมการ 3 กองทุนกำลังดำเนินการกันอยู่นั้น ไม่ใช่การเสนอว่าต้องให้เงินเดือนเท่าไร ต้องเก็บเท่าไร แต่จะเน้นการเจรจา 3 กองทุน โดยให้มีผู้แทน 3 กองทุน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น มาหารือเรื่องโครงสร้างงบประมาณของปีต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
"ทีดีอาร์ไอศึกษาพบว่าระยะหลังเงินเดือนครู หมอ และข้าราชการอื่นๆ ค่อนข้างสูงมาก และสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีผลงาน โดยเฉพาะครู ผลงานการศึกษาของไทยต่ำกว่ามาตรฐานทุกปี เป็นตัวสะท้อนได้อย่างดี แถมยังไปก่อหนี้สินมากมาย ขอลดหนี้กันมากมาย ขณะที่สิทธิในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมีเยอะกว่าสิทธิอื่นๆ เข้าได้ทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ระบบของข้าราชการเป็นระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้จ่ายสิ้นเปลือง แต่บัตรทองค่อนข้างได้รับสิทธิอย่างจำกัด ดังนั้นข้าราชการควรมีส่วนในการร่วมจ่ายด้วยหรือไม่" นายอัมมารกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 เมษายน 2558
- 3 views