“ทีดีอาร์ไอ” เผยผลวิจัยวิเคราะห์อนาคต 15 ปี ค่าใช้สุขภาพประเทศไทยพุ่ง 1.8 ล้านล้านบาท หากรัฐไม่มีมาตรการควบคุม เหตุจาก “สังคมผู้สูงอายุ” “โรค NCDs” ทำผู้ป่วยเพิ่ม ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลาง หากรายได้เพิ่ม ยังแห่ใช้บริการประกัน/ รพ.เอกชนแทนบริการภาครัฐ ส่งผลภาพรวมค่าใช้จ่ายสุขภาพประเทศเพิ่ม พร้อมเสนอแนะรัฐ 3 มาตรการแก้ปัญหา
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย – ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แถลงข่าวผลการวิจัย “อีก 15 ปีข้างหน้า อนาคตค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยจะเป็นอย่างไร?” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมข้อเสนอแนะ 3 ข้อต่อรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การวางมาตรการและควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศในอนาคต
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า โครงการวิจัย “อีก 15 ปีข้างหน้า อนาคตค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยจะเป็นอย่างไร?” เป็นโครงการที่ใช้เวลาศึกษา 3 ปี เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพในอนาคตที่รัฐต้องจ่ายออกไป โดยใช้ข้อมูลศึกษาย้อนหลังจากธนาคารโลกโดยไม่รวมด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และใช้กรอบแนวคิดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่มีมุมมองครอบคลุมทั้งปัจจัยโครงสร้างประชากรและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ รายได้ประชากร ค่าจ้างบุคลากร เป็นต้น มาใช้ในการประเมิน และจากข้อมูลพบว่าสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าด้วยโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากปี 2560 สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 17 ของประชากรประเทศ และใน 15 ปีข้างหน้า (2575) จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของประชากรประเทศ เป็นแรงกดดันที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาของประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยเปรียบเทียบแบบจำลองประชากรรวมและแบบจำลองสังคมผู้สูงอายุ โดยใช้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าในปี 2575 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในแบบจำลองประชากรรวมอยู่ที่ 483,000 ล้านบาท ขณะที่แบบจำลองสังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะพุ่งสูงถึง 1,407,000 ล้านบาท (1.407 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ในกรณีหากรัฐบาลไม่มีมาตรการเพื่อควบคุม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในปี 2575 จะก้าวกระโดดขึ้นไป 1,825,080 ล้านล้านบาท หรือเกือบจำนวน 2 ล้านล้านบาท นับเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามทำมาตรการควบคุมออกมาพอควร โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่ยังขาดความชัดเจน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จำลองขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามที่ได้ทำการวิเคราะห์ เพราะหากมีปัจจัยอื่นเข้ามา รวมถึงการปรับเปลี่ยนของข้อมูลก็คงต้องมีการวิเคราะห์ใหม่
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้ ยังได้วิเคราะห์ค่าความยืดหยุ่นกรณีหากประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศจะเป็นอย่างไร หลักในการวิเคราะห์กรณีที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1% สะท้อนว่าเป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพเพิ่มขึ้นในสินค้าที่จำเป็น แต่หากมากกว่า 1% นั่นสะท้อนว่าเป็นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสินค้าที่ฟุ่มเฟือย โดยประเทศไทยอยู่ที่ 0.85% อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ความยืดหยุ่นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระดับบุคคลกรณีที่มีรายได้เพิ่มขึ้น กลุ่มประชากรรายได้ต่ำยังคงใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉพาะที่จำเป็น ขณะที่กลุ่มประชากรรายได้ปานกลางจะใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น เพราะด้วยรายได้ที่เพิ่มทำให้มีทางเลือกมากขึ้น เช่น การซื้อประกันสุขภาพหรือใช้บริการ รพ.เอกชนและซื้ออาหารเสริมต่างๆ เป็นต้น
ผลที่ได้นี้ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาอัตราการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพของรัฐ โดย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เมื่อปี 2558 ซึ่งพบว่า ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงจะมีอัตราการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะลดลง ซึ่งสวนทางกับหลักการที่ต้องการดึงคนชั้นกลางเข้าใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาระบบบริการ ขณะเดียวกัน รพ.รัฐหลายแห่งได้มีการเปิดช่องทางพิเศษเพื่อดึงกลุ่มลูกค้ารายได้สูงเหล่านี้กลับมาใช้บริการ
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาวะความเจ็บป่วยกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้น ซึ่งผู้สูงอายุที่ไม่เจ็บป่วยนั้นน้อยมาก โดยมีกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) ประกอบด้วย โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ, โรคอ้วน, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, มะเร็ง และถุงลมโป่งพอง เป็นปัจจัยหลักการเจ็บป่วยของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายแต่ละกองทุนรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายสุขภาพระดับประเทศ ข้อมูลในปี 2551 มีค่ารักษาพยาบาลจากโรค NCDs ราว 25,200 ล้านบาทต่อปี และเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วจะทำให้ค่ารักษาโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามโรค NCDs เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในกรณีประเทศไทยหรือประชากรในประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม เพราะด้วยผู้มีรายได้จะมีทางเลือกสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการภาคเอกชน ขณะที่โรค NCDs ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมของประเทศ ดังนั้นจึงมี 3 ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ต่อรัฐบาล ดังนี้
1. รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง สปสช. และสำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ ควรพิจารณาหากแนวทางที่ทำให้แนวคิด ข้อสมมติและวิธีการทีได้มาซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายสุขภาพจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานพยาบาล เป็นบรรทัดฐานเดียวกันและเปรียบเทียบได้ เนื่องจากในการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยในครั้งนี้พบว่าในแต่ละกองทุนและหน่วยงานต่างๆ มีการจัดเก็บข้อมูลแตกต่างกัน ส่งผลต่อการนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ รวมถึงการกำหนดแนวทางต่างๆ ในอนาคต
2. ควรมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ
3. รัฐบาลควรกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการควบคุมโรคโดยเฉพาะโรคในกลุ่มโรค NCDs เนื่องจากส่วนใหญ่มีปัญหามาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่สามารถป้องกันได้
พบว่าในปี 2575 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในแบบจำลองประชากรรวมอยู่ที่ 483,000 ล้านบาท ขณะที่แบบจำลองสังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะพุ่งสูงถึง 1,407,000 ล้านบาท (1.407 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ในกรณีหากรัฐบาลไม่มีมาตรการเพื่อควบคุม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศในปี 2575 จะก้าวกระโดดขึ้นไป 1,825,080 ล้านล้านบาท (ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)
- 96 views