สพฉ.ร่วมกับ สธ. จัดประชุมพิจารณาปรับปรุงแนวทางในการให้บริการประชาชนตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” หลังมีปัญหา ผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินจน รพ.เนื่องจากมีความเห็นต่างเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้ข้อสรุป 3 แนวทาง 1.สธ.และสพฉ.กำหนดนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติให้ชัดเจน 2.จัดทีมแพทย์ประจำที่ สพฉ.สำหรับวินิจฉัยอาการฉุกเฉินของผู้ป่วยว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ในกรณีที่ผู้ป่วยและ รพ.ขัดแย้งกัน 3 ตั้งคณะทำงานประสานทำงานและหารือกับ รพ.เอกชน เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า แนวทางการให้บริการตามนโนบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์นั้นประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที เพื่อป้องกันการพิการและเสียชีวิตได้ โดยจะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย แต่ที่ผ่านมาการให้บริการก็ยังพบปัญหาอยู่พอสมควร อาทิ ประชาชนไม่กล้าเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากกลัวไม่มีค่ารักษา อีกทั้งมียังมีกรณีที่หลายโรงพยาบาลมีข้อขัดแย้งเรื่องการรับรักษาประชาชนเนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤติ ดังนั้น สพฉ.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงได้มีการประชุมหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นไปตามนโยบายอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อปรับปรุงแนวทางการให้บริการดังนี้ 1. กระทรวงสาธารณสุขและ สพฉ.ได้ร่วมกันกำหนดคำนิยามของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลว่า อาการในลักษณะใดบ้างที่หมายถึงภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที 2. มีการจัดทีมแพทย์ให้ประจำการที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อวินิจฉัยถึงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนที่เข้ารับการรักษา ในกรณีที่มีความขัดแย้งถึงอาการเจ็บป่วยว่า เข้าข่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการคัดแยกให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 3. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานการทำงาน และหารือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางตามนโนบายดังกล่าว และแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการให้บริการตามนโนบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” นั้น ประชาชนที่พบว่าตนเองมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าไปขอรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทันที โดยเมื่อประชาชนไปถึงโรงพยาบาลแล้วเจ้าหน้าที่จะตรวจดูสภาพอาการพร้อมทั้งวินิจฉัยตามเกณฑ์ว่าเข้าข่ายของการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติก็จะได้รับการรักษาในทันที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ทั้งนี้หากมีข้อขัดแย้งทางอาการก็จะรีบส่งต่อให้ทีมแพทย์ที่ประจำการอยู่ที่ สพฉ.วินิจฉัยอาการ และหากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติก็จะรีบรักษาอย่างทันท่วงที จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะสามารถทำได้ภายในเวลารวดเร็ว ส่วนประชาชนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ก็สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อส่งต่อไปผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิของผู้ป่วยได้ต่อไป
“ต่อจากนี้เรื่องที่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนคือ ภาวะแบบไหนเรียกว่าเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤติ และต้องได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ใกล้อย่างทันท่วงที ซึ่งสังเกตได้จาก 6 อาการที่ส่งผลต่อชีวิตและอวัยวะสำคัญ ดังนี้ 1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้น จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2.การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3.ระบบหายใจมีอาการดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ 4.ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤติอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น” นพ.อนุชากล่าว
- 2 views