นสพ.มติชน : 'บิ๊กต๊อก' เผยเบื้องหลังสั่ง ป.ป.ท.สอบความเสียหายการบริหารงาน สปสช. พบมีการร้องเรียนที่ ศตช.ว่ามี 10 รพ.ได้รับความเสียหายจากการบริหารงานของ สปสช. 2 พันล้านบาท แต่ยังไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการทุจริต ต้องรอผลสอบก่อน ขณะที่ ผอ.รพ.อยุธยา ตั้งข้อสังเกต ประเด็น นพ.ณรงค์ถูกตั้งข้อหาไม่สนองนโยบาย แต่ในนโยบาย 10 ข้อของ รมต.กลับมีนโยบายที่ นพ.ณรงค์ขับเคลื่อนมานาน ด้าน นพ.รัชตะแจง นโยบายมาจากการสอบถามแต่ละกรม แล้วแปลงเป็นนโยบาย รมต.คิดคนเดียวไม่ได้ ส่วน นพ.ณรงค์ระบุ ไม่ว่าใครทำก็ดีทั้งนั้น ฝากสื่อ ไม่ใช่คนดีเป็นเพียงคนธรรมดา หลังสื่อนำเสนอ ขัดแย้งสธ.เป็นเรื่องของคนดี
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการตรวจสอบการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าศูนย์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศตช.) รับการร้องเรียน และมีข้อมูลจากทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หน่วยงานที่อยู่ใน ศตช. ว่ามีความเสียหายจากการบริหารงานของ สปสช. 10 โรงพยาบาล จำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท จึงมอบหมายให้ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นเลขาฯศูนย์ฯลงไปตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความบกพร่องในส่วนใดบ้าง ต้องเข้าไปดูรายละเอียด เพราะเงินที่เสียหายเป็นการใช้จ่ายภาษีประชาชน ยังไม่ได้หมายความว่าความเสียหายนั้นเกิดจากทุจริต คงต้องรอผลการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ไม่อยากให้นำเรื่องการสอบ สปสช.ไปเกี่ยวพันกับการทำงานโยกย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาจึงไม่อยากให้สัมภาษณ์ เพราะเป็นเรื่องของความขัดแย้งภายในองค์กร และเมื่อวันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงประเด็นดังกล่าว ได้ชี้แจงว่าการตรวจสอบของ ป.ป.ท.เป็นการตรวจเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่พบความเสียหายเท่านั้น สำหรับ นพ.ณรงค์ที่ ป.ป.ท.เรียกเข้าให้ข้อมูลเป็นเพียงผู้เกี่ยวข้องในฐานะปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเลขาธิการ สปสช.ที่ต้องมาให้ข้อมูลกับทาง ป.ป.ท.เช่นกัน
ด้านนายประยงค์ กล่าวว่า ทำหนังสือเรียกข้อมูลจากทาง สปสช.พร้อมทั้งให้เลขาธิการ สปสช.มาให้ข้อมูลในวันที่ 26 มีนาคม แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะมาตามนัดหมายหรือไม่
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อตรวจสอบการทำงานของ สปสช. ภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการสอบ นพ.ณรงค์ ล่าสุด นายยงยุทธในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 86/2558 วันที่ 19 มีนาคม 2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
หนังสือระบุว่า ตามที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 70/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 นั้น เพื่อให้การตรวจสอบมีขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการบริหารจัดการกองทุน และการใช้จ่ายงบประมาณของ สปสช. ตลอดจนการบริหารจัดการภายในสำนักงานดังกล่าว และความสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ อาศัยอำนาจตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 103/2557 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย 1.พล.ต.ธนาคาร เกิดในมงคล คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เป็นประธานกรรมการ 2.น.ส.อมรวดี จักรไพวงศ์ สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ 3.นางเยาวลักษณ์ ตั้งบุญญะศิริ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นกรรมการ 4.นายไชยา ยิ้มวิไล เป็นกรรมการ 5.นายอุทัย ชาญ เป็นเลขานุการ และ 6.นายสมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษก สธ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงแล้วเสนอสำนวนการสอบสวนและข้อเสนอแนะ เพื่อพิจารณาประกอบสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 70/2558 ต่อไป
เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ สปสช. ว่ามีการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ตนและนายยงยุทธเป็น ผู้ทาบทาม กรรมการชุดดังกล่าวจะตรวจสอบเรื่องของงบประมาณ สปสช. การใช้เงิน การบริหารกองทุน ไม่ใช่การตรวจสอบบุคคล หรือเรื่องของการตรวจสอบวินัย
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคลากรสาธารณสุขยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่าง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยผ่านสังคมออนไลน์ มีการส่งภาพการ์ตูนล้อเลียน นพ.รัชตะ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อค่ำวันที่ 16 มีนาคม นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. ได้เรียกผู้บริหารระดับสูง อธิบดีกรม หารือแนวทางการทำงาน และได้ให้นโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ที่ต้องดำเนินการในทันที แต่ทั้ง 10 นโยบายดังกล่าว ถูกบุคลากรสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคตั้งข้อสังเกตว่าเป็นนโยบายที่ปลัด สธ.เคยประกาศไว้ และดำเนินการมาตลอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบาย 10 ข้อ นพ.รัชตะมอบหมายให้ทุกกรมดำเนินการ คือ
1.เร่งรัดงานตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติพระราชวงศ์ทุกพระองค์ อาทิ โครงการชุมชนต้นแบบไอโอดีน เป็นโครงการที่ทรงให้ความสำคัญ เป็นต้น
2.เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนปี 2558 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ได้รับประมาณ 2,700 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 3.เร่งรัดการพัฒนาระบบบริการตามแผนจัดบริการเขต หรือเซอร์วิสแพลน (Service Plan) ทั้ง 10 สาขาเฉพาะทาง ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
4.พัฒนาทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) ให้ครอบคลุมประชากรทุกครัวเรือน
5.พัฒนาการจัดเขตสุขภาพเพื่อเป็นกลไกในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ ทั้งภายในกระทรวงและเชื่อมโยงกับกลไกอื่นๆ โดยเฉพาะ สปสช.และสมัชชาสุขภาพ ในทิศทางเดียวกัน
6.เร่งรัดการสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มวัย 7
.พัฒนาการจัดระบบการดูแลระยะยาวแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายในท้องถิ่น
8.พัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลใน สธ.ให้เข้มแข็ง ให้ สธ.ปลอดคอร์รัปชั่น ในการจัดซื้อจัดจ้างยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล
9.การลดอุบัติเหตุ
10.การเร่งกำจัดขยะมูลฝอยร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.)
นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และผู้อำนวยการ รพ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สิ่งที่ส่วนภูมิภาคกำลังสงสัย คือ นพ.ณรงค์ถูกย้ายเนื่องจากเหตุผลว่าไม่สนองตอบนโยบายรัฐมนตรี สธ. แต่ในรายละเอียดนโยบายต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นของปลัด สธ.ที่ขับเคลื่อนมานาน เช่น เรื่องการสร้าง ธรรมาภิบาลในกระทรวง มีการเกิดเกณฑ์ และระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างยาและเวชภัณฑ์ขึ้น มีโรงพยาบาลคุณธรรม และยังมีเรื่องพัฒนาการเด็ก
"หลายๆ อย่างก็ชัดเจน จึงอดคิดไม่ได้ว่า สาเหตุเพราะอะไรกันแน่ และอยากให้คณะกรรมการที่ตรวจสอบมีข้อสรุปโดยเร็ว" นพ.ธานินทร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ นพ.ณรงค์ถึงประเด็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว นพ.ณรงค์กล่าวเพียงว่า ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขจาก สธ.ไม่ว่าใครก็ตาม ถือว่าดีทั้งนั้น เพราะประชาชนได้ประโยชน์
"แต่อยากฝากสื่อว่า ที่ผ่านมามักมีการนำเสนอความขัดแย้งของกระทรวง เป็นเรื่องของคนดี ต้องบอกว่าผมไม่ใช่คนดี ผมเป็นเพียงคนธรรมดาเท่านั้น" นพ.ณรงค์กล่าว
ด้าน นพ.รัชตะให้สัมภาษณ์ด้วยว่า นโยบายต่างๆ มาจากการสอบถามแผนงานของกรมต่างๆ แต่แปลออกมาเป็นเนื้องาน ซึ่งหลายเรื่องตรงกับนโยบายของรัฐบาล ต้องยอมรับว่านโยบายต่างๆ รัฐมนตรีจะคิดคนเดียวทั้งหมดไม่ได้ ต้องอิงข้าราชการประจำ คนที่ปฏิบัติงานจริงด้วยว่าอยากทำอะไร อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การทำงานต้องร่วมกันทั้งหมด โดยเฉพาะข้าราชการประจำ คนปฏิบัติงาน ดังนั้นการสอบถามกันก็เป็นเรื่องที่ดี อยากย้ำว่าเกี่ยวกับเรื่องงานก็ขอให้ทำงานกันไป เดินหน้าอย่าขัดแย้ง ส่วนเรื่องคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ก็ทำงานอีกทาง เรื่องนั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละชุด
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2558
- 14 views