กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจี้ ยธ.-คสช. เปิดประชาชนร่วมแก้ กม.บัตรทอง พร้อมเสนอ 9 ข้อ ปรับปรุงกฎหมาย อาทิ เสนอร่วมจ่ายในรุปแบบภาษี ปรับองค์ประกอบบอร์ด ย้ายผู้แทนวิชาชีพไปอยู่บอร์ดควบคุมแทน เหตุตรงกับเรื่องการกำกับ ส่วนบอร์ดหลักเปลี่ยนเป็นผู้แทนจาก รพ.ทั้ง 3 ระดับ ตัดมาตรา 42 ออก ยกเลิกไล่เบี้ยผู้กระทำผิด เพื่อไม่ให้ผู้บริการเกิดความทุกข์ แจงกว่า 10 ปีของ กม.บัตรทอง ก็ไม่เคยมีการดำเนินการตามมาตรานี้
นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า หลังจาก พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดประเด็นให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเคยออกแถลงการณ์เรียกร้องว่าการแก้ไขกฏหมายครั้งนี้ ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และเจตนารมณ์ของกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงต้องจัดเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นท่าทีว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ยังคงเป็นการแก้ไขที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐมนตรี ข้าราชการเท่านั้น
ที่ผ่านกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเคยมีข้อเสนอเพื่อการปรับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ทำหน้าที่มากขึ้นในบางมาตราที่ยังไม่ได้ดำเนินการเลย ดังนี้
1.การให้คำนิยามบริการสาธารณสุขที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งเรื่องบริการสุขภาพ บริการสาธารณสุข
2.การระบุค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข บริการสุขภาพ ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ของหน่วยให้บริการ โดยเฉพาะกรณีโรงพยาบาลของรัฐ ตามที่มีปัญหาการตีความของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกฤษฎีกา ที่ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถใช้จ่ายเงินหลักประกันสุขภาพได้ครอบคลุม
3.การระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีองค์กรที่สามารถให้บริการสุขภาพกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพที่หลากหลายขึ้นทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์
4.การยกเลิกการเก็บเงินทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ตามมาตรา 5 เสนอให้ยกวรรคสองออกทั้งวรรค โดยให้มีการพิจารณาการร่วมจ่ายเพื่อประกันสุขภาพในรูปแบบภาษี การปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้สามารถนำมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้า และการดำเนินการให้ทุกคนสามารถเข้าสู่การเสียภาษีทางตรงตามรายได้
5.ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ 2 ชุดในกฎหมาย ตาม ม. 13 และ ม.48 โดยเพิ่มผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารกองทุน เช่น กรมบัญชีกลาง เลขาธิการประกันสังคม และปรับออกบางกระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง การปรับย้ายผู้แทนสภาวิชาชีพไปเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน เพราะจะตรงกับเรื่องการกำกับด้านจริยธรรมของผู้ให้บริการ แล้วเปลี่ยนเป็นให้มีผู้แทนผู้ให้บริการจากโรงพยาบาล 3 ระดับคือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ แทน
6.ระบุให้ชัดเรื่องการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีความจำเป็น มีราคาสูง เข้าถึงได้ยาก หรือมีข้อจำกัดเช่นมีการใช้จำนวนน้อยทำให้โรงพยาบาลไม่สำรองไว้ในคลังยา เช่น เซรุ่มต่างๆ โดยบอร์ดให้สำนักงานสามารถดำเนินการจัดซื้อ จัดหา ในระดับประเทศได้
7.ขยายการคุ้มครองสิทธิเมื่อได้รับความเสียหายของประชาชน ตามมาตรา 41 ปรับเปลี่ยนจากการช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นการเยียวยาชดเชยตามความเสียหาย และขยายให้ครอบคลุมทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ
8.ตัดมาตรา 42 ที่เกี่ยวกับการไล่เบี้ยผู้กระทำผิดในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เพื่อให้ผู้ให้บริการไม่ได้รับความทุกข์และที่ผ่านมา 10 กว่าปีของกฎหมายนี้ ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรานี้
9.เร่งรัดให้บอร์ด ดำเนินการตามมาตรา 12 ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจ่ายเงิน และเรียกเก็บเงินจากบริษัทประกันภัยกรณีประสบภัยจากรถ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิการรักษาโดยไม่ถูกปฏิเสธหรือเป็นภาระในการดำเนินการด้านเอกสารที่เป็นเรื่องยุ่งยากของประชาชน
นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายที่ใช้กว่า 10 ปีเพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การแก้ไขกฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่ รมว.ยุติธรรม และรัฐบาล คสช.กำลังจะทำนี้ แปลกตรงที่ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมศูนย์อำนาจทำกันเองเฉพาะหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้จากข้อเสนอทั้งหมดนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมเข้าไปเป็นตัวแทนในการปรับปรุงกฎหมาย และติดตามใกล้ชิดในการดำเนินงานของรัฐในเรื่องนี้ เพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ไม่ทำลายหลักการและเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนกลายเป็นการทำร้ายประชาชน
- 5 views