“พล.อ.ไพบูลย์” เปิดใจ รายการ Face Time เหตุ ป.ป.ท. รุกสอบ สปสช. ตาม ศอตช.มอบหมาย ยันเป็นกระบวนการปกติ หลังมีผู้ร้องเรียนและดำเนินการตามรายงาน สตง. พร้อมระบุการตรวจสอบไม่ได้ชี้ สปสช.ผิด แต่อาจเป็นเพียงขอให้ชี้แจงเพื่อความชัดเจน ขณะที่ผลการตรวจสอบ ป.ป.ท. ไม่สามารถโยงความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขได้ เหตุเป็นเรื่องบริหารไม่ใช่การทุจริต พร้อมรับเรียนร่วมรุ่น วปอ. 51 กับหมอณรงค์ แต่ไม่สนิทกัน แถมย้ำการตรวจสอบ สปสช. ของ ป.ป.ท. ไม่ได้มุ่งลดกระแสย้ายปลัด
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เผชิญหน้า Face Time” กับ "ดนัย เอกมหาสวัสดิ์" ในประเด็น "สอบงบ สปสช. ปมความขัดแย้งกระทบชิ่ง 2 หมอ" ซึ่งออกอากาศเมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม 2558 เวลา 21.10 – 21.55 น. ทางสถานีโทรทัศน์สปริงค์ นิวส์ (ดู ที่นี่)ที่ผ่านมา โดยระบุถึงการดำเนินการเข้าตรวจสอบการบริหารงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหาร สปสช. สำนักข่าว Health Focus จึงได้ทำการสรุปสาระสำคัญที่ พล.อ.ไพบูลย์ พูดคุยในรายการเพื่อนำเสนอ
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า กรณีการสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหาร สปสช. เป็นการหยิบยกขึ้นในช่วงการประชุม ครม.วาระทั่วไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสื่อและสังคม สั่งสมจนเป็นประเด็น และนายกรัฐมนตรีอยากให้ดำเนินการเสร็จโดยเร็ว จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้หรือไม่ พร้อมกันนี้ยังให้ทำความเข้าใจกรณีการย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ว่าไม่ได้เป็นคำสั่งย้ายขาด เพียงแต่ให้มาช่วยราชการเท่านั้น และเมื่อปัญหาต่างๆ เรียบร้อยจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือไม่ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อน คสช.แล้ว ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหาร สปสช.ของนายกรัฐครั้งนี้ เป็นเพียงการเบรกกระแสการคัดค้านการย้ายนั้น เรื่องนี้ตนไม่ทราบ
ส่วนการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มอบให้รองนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ซึ่งถูกมองว่าอาจซ้ำซ้อนกับการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ที่ดำเนินการอยู่นั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ เพราะการตรวจสอบของ ป.ป.ท. เป็นการดำเนินการตามระบบ ศอตช. ไม่ว่าเรื่องใด ในหน่วยงานใด ซึ่งภายใต้ ศอตช. มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ท. ซึ่งจะทำหน้าทิ่ติดตามตรวจสอบการทุจริตทั้งระบบ การใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมด ไม่ใช่แต่เฉพาะกรณีของ สปสช.เท่านั้น แต่บังเอิญเป็นจังหวะคาบเกี่ยวกับปัญหาการบริหารในกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบ สปสช.ที่มอบให้รองนายกรัฐมนตรีดำเนินการ คงเป็นการดูในรายละเอียดระบบบริหารงาน สปสช.
“จริงๆ คนทำหนังสือร้องเรียนเข้ามาถึงกรณีน่าจะมีการใช้จ่ายสิ่งไม่ถูกต้องของหน่วยงานๆ เพื่อให้ตรวจสอบและนำไปสู่การป้องกัน แต่บังเอิญ ศอตช. ได้เข้าไปตรวจสอบตรงนี้พอดี โดย ศอตช. ซึ่งมี ป.ป.ท.ทำหน้าที่เลขาจึงได้ทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงานเหล่านั้น ทั้งนี้หน้าที่ของ ศอตช. ไม่ได้มีแต่เฉพาะการตรวจสอบเท่านั้น แต่สามารถขอทราบการบริหารการเงิน หรือให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ได้” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า การเข้าตรวจสอบของ ป.ป.ท. ในช่วงนี้ เป็นเพราะ นพ.ณรงค์ เป็นเพื่อ วปอ.รุ่นเดียวกัน จึงช่วยลดกระแสการปลดปลัด สธ.หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวยอมรับว่า เป็นเพื่อนเรียน วปอ.รุ่น 51 รุ่นเดียวกัน แต่คนละกลุ่ม ไม่ได้ผูกพันสนิทกัน เพียงแต่รู้จักเพราะเรียนอยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้สนิทกัน และแม้ในช่วงการบริหารของ คสช. ที่ นพ.ณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ตนก็ไม่ได้ดูงานด้านสังคม โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงสังคม มีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รอง คสช.ที่ทำหน้าที่ดูแล ส่วนตัวนั้นดูแลงานด้านยุติธรรม ซึ่งเคยเจอ นพ.ณรงค์ ใน ครม.เท่านั้น
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข เป็นปัญหาจากกระบวนการบริหารภายในต่อการบริหารจัดการงบประมาณ ดังนั้นจึงไม่ได้อยู่ในระบบการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการบริหารแบบใด จะเป็นแบบที่ปลัด สธ. หรือ สปสช.เสนอ ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าตรงไหนทุจริตหรือไม่ทุจริต ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บริหารและองค์ประกอบที่เข้าไปว่าจะทำให้การเกิดความโปร่งใสได้แค่ไหน ดังนั้นการตรวจสอบของ ศอตช.ครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดยปกติทั่วไป ซึ่งผลการตรวจสอบที่ออกมาไม่สามารถเชื่อมโยงหรือส่งเสริมว่าแนวความคิดการบริหารใครถูกต้องได้ ไม่สามารถยืนยันว่าการบริหารใครดีกว่าใครได้
การเข้าตรวจสอบ สปสช.ของ ป.ป.ท. ที่ได้รับมอบจาก ศอตช. นอกจากมีผู้ร้องเรียแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ยังมาจากการรายงานของ สตง. ที่ได้เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 10 จังหวัดก่อนหน้านี้ และพบการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ถูกต้อง 2,000 ล้านบาท ซึ่งการตรวจสอบของ สตง.นี้อาจอยู่ในข้อร้องเรียนที่มีผู้ร้องเข้ามา แต่ทั้งนี้ไม่อยากชี้นำ และขอให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปก่อน ไม่เช่นนั้นองค์กรตรวจสอบจะไร้ความน่าเชื่อถือได้ อย่างไรก็ตามการตรวจสอบ สปสช.ไม่ได้หมายความว่า สปสช.ผิด อาจเป็นเพียงกรณีที่ทางหน่วยงานยุติธรรมตรวจเจอและขอให้ทำการชี้แจงมาเท่านั้น ซึ่งหากมีคำตอบมากก็จะเคลียร์ตัวเองได้
ต่อข้อซักถามว่า กระบวนการตรวจสอบทั้ง 2 ทาง ทั้งจาก ศอตช. และคณะกรรมการตรวจสอบที่มอบรองนายกฯ ดำเนินการ จากนี้จะมีการขับเคลื่อนอย่างไร พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ ศอตช. เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาทุจริตที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยเป็นสวนหนึ่งของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งคงต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และนายกรัฐมนตรีคงนำไปพิจารณา ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบ สปสช.ที่มอบรองนายกฯ นั้น ตนไม่ทราบว่าเป็นการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเพียงอย่างเดียวหรือตรวจสอบระบบการทำความ ความเหมาะสมของแนวคิดการบริหารของแต่ละฝ่าย
ต่อข้อซักถามทิ้งท้ายว่า การที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้เกิดสมดุลใช่หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า หากมองแง่นี้ไม่ผิด เพราะในแง่บริหารสำหรับตน อะไรที่เป็นปัญหา ขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนแคลงใจ ผู้บริหารต้องทำให้เกิดความชัดเจน และสร้างการรับรู้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ ดังนั้นเมื่อมีข้อคิดเห็นต่างกันในกระทรวงสาธารณสุข หลังคณะกรรมการฯ ตรวจสอบแล้วจะต้องชี้ชัดว่า ควรเดินหน้าการบริหารแนวไหน เพื่อประชาชนจะได้รับทราบ เป็นวิธีสร้างความกระจ่าย อย่าไปเชื่อมโยงว่าเมื่อทะเลาะกันแล้ว ต้องตั้งสอบ ตนอยากให้มองเป็นประเด็นการบริหาร เช่นเดียวกัน นายกมองว่า สปสช.เป็นระบบการบริหารใหญ่ที่เข้าไปดูแลด้านสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุขเองก็เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อมีปัญหา ในฐานะที่ท่านเป็นผุ้บริหารประเทศก็ต้องสร้างความกระจ่าย และไม่อยากให้เชื่อมโยงเป็นเรื่องขัดแย้งส่วนบุคคล เพราะจะทำให้นายกไม่สบายใจ แต่อะไรทำให้ประชาชนไม่สบายใจก็ต้องทำให้ชัดเจน
- 12 views