รมว.สธ.เตรียมเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลก ว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่3ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยนำเสนอประสบการณ์เตรียมความพร้อมของไทยในการรับมือภัยพิบัติจากโรคระบาด ให้ประจักษ์และเพิ่มความมั่นใจชาวโลก
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 14-15 มีนาคม 2558 นี้ จะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (The Third United Nations World Conference on Disaster Risk Reduction – 3WCDRR) ซึ่งเป็นประชุมระดับผู้นํา จัดขึ้นทุก 10 ปี ปีนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดที่เมืองเซ็นได เพื่อรับรองกรอบการดําเนินงานระดับโลก ว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 จะเข้าร่วมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น และหารือกับเลขาธิการสหประชาชาติ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และสถานการณ์การเมืองไทย พร้อมกับนายกรัฐมนตรีและคณะ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 จะเข้าร่วมประชุมในหัวข้อการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ กรณีจากโรคระบาด และการระบาดใหญ่ (Reducing Risks for Epidemics & Pandemics) โดยประเทศไทยจะนำเสนอประสบการณ์การเตรียมความพร้อมและการรับมือโรคระบาดที่สำคัญเช่น โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) ไข้หวัดใหญ่ 2009 (Influenza 2009) รวมถึงความพร้อมจัดการความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสโคโรนา (MERS-COV) และโรคอีโบลา (Ebola) ซึ่งกำลังเกิดในต่างประเทศ โดยจะเน้นจุดเด่นด้านการสร้างความร่วมมือพหุภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดระบบการเฝ้าระวังโรค ทั้งในสัตว์และคน การรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การควบคุมการแพร่กระจาย การสื่อสารสร้างความตระหนักแก่ประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนก ซึ่งประสบผลสำเร็จ ช่วยลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างน่าพอใจ พร้อมกันนี้ ประเทศไทยมุ่งจะขยายความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกันในการรับมือกับโรคระบาด และภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 40,000 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนประมาณ 6,000 – 8,000 คน ประชาชนทั่วไปประมาณ 30,000 คน โดยมีผู้นําระดับประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลกว่า 20 ประเทศ และระดับรัฐมนตรี 118 คน รวมทั้งหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ เช่น นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ นางเฮเลน คลาร์ก ผู้บริหารสูงสุดโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) นายแอนโทนี่ เลค เลขาธิการบริหารกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) และนางอิรินา โบโกวา ผู้อํานวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เข้าร่วมประชุมด้วย
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่ออีกว่า ภัยพิบัติ เป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีผลกระทบวงกว้างต่อสุขภาพ ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม มักเกิดโดยทำนายล่วงหน้าได้ยาก และต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ภัยพิบัติอาจมีสาเหตุจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม ภัยจากโรคระบาด เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก โรคอีโบลา ภัยจากมือมนุษย์ เช่น ภาวะสงคราม โรงงานนิวเคลียร์ระเบิด เป็นต้น
- 3 views