นสพ.มติชน : "ผมไม่ได้ขัดแย้งกับใคร เรื่องที่เกิดขึ้นมาจากหลักการและแนวคิดที่เห็นต่างในการบริหารจัดการ ไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนบุคคล ..." คำพูดของ "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ประกาศชัดหลังมีข่าวว่าการร้องเรียนจนนำไปสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอตรวจสอบการบริหารงานของคณะกรรมการ (บอร์ด) สปสช. หลังมีผู้ร้องเรียนว่ามีการบริหารไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ทับซ้อน จนส่งผลให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ขาดทุน

หากพิจารณาจากคำพูดของปลัดณรงค์ มีส่วนจริง...ตรงที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากบุคคลทั้งหมด

ต้องย้อนความไปถึงต้นเหตุของปัญหา เริ่มมาจากการปฏิรูปในแต่ละยุคสมัย กว่า 30 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการปฏิรูปที่เน้นปฐมภูมิขึ้น ให้ความสำคัญในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลระดับอำเภอ ขณะนั้นได้เกิดกลุ่มที่เรียกว่า "กลุ่มสามพราน" ซึ่งมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ ตามมาด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

กลุ่มสามพรานเรียกว่า เป็นการรวมพลของกลุ่มแพทย์ชนบทเพื่อมาร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์โรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาสุขภาพต่างๆ ประชุมกันทุกเดือน จนเกิดการผลักดันหน่วยงานตระกูล ส. องค์กรแรกคือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2535 มี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นผู้อำนวยการ สวรส.คนแรก

จากนั้นมีการศึกษาวิจัยต่างๆ จนเกิดองค์กรใหม่คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้นในปี 2544 ต่อมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2545 ตามด้วยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในปี 2550 ต่อมาในปี 2551 เกิดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขึ้น

การเกิดหน่วยงาน ส. ต่างๆ ขึ้นมากมาย จึงไม่แปลกที่กระทรวงสาธารณสุขจะมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกมองว่าปัญหาความขัดแย้งมาจากการเกิดหน่วยงานใหม่ๆ และกระทรวงสาธารณสุขถูกลดบทบาทลง อำนาจศักดิ์ศรีในการกำกับดูแลเริ่มน้อยลง โดยเฉพาะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดย สปสช.เป็นผู้บริหารจัดการทางการเงิน การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวให้แก่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.กว่า 1,000 แห่ง ทำงานภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สามารถพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์และแนวทางการจัดสรรเงินต่างๆ

ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นปมทำให้เกิดความขัดแย้งมานาน

อีกฝั่งมองว่า ปัญหาที่เกิดไม่ได้มาจากกระทรวงต้องการกู้คืนอำนาจให้ตนเอง แต่เป็นเพราะหน่วยงาน ส. โดยเฉพาะ สปสช.มีอำนาจอิสระมากเกินไป เนื่องจากตัว พ.ร.บ.กำหนดอำนาจที่เป็นอิสระ และยังมีเกณฑ์ในการจัดสรรเงินที่ส่งผลต่อ รพ.ประสบปัญหาขาดทุน

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) มักพูดเสมอว่า สปสช.จัดสรรเงินให้โรงพยาบาลในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวที่ไปรวมเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ กล่าวคือ เมื่อสำนักงบประมาณอนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวมา ก็จะรวมกับเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ด้วย และเมื่อหักเงินเดือนออกมา ตัวเงินเหมาจ่ายรายหัวก็จะได้น้อยลง

ที่สำคัญการจัดสรรเงินของ สปสช.ยังมีการแบ่งหมวดกองทุนย่อยต่างๆ ทั้งโรคไต โรคเอดส์ โรคตาต้อกระจก ทำให้เกิดเงินค้างท่อ เรื่องนี้ นพ.ประเสริฐ ขันเงิน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เคยพูดว่า การบริหารเช่นนี้ทำให้มีเงินค้างท่ออยู่กับ สปสช. เฉพาะโรงพยาบาลจังหวัด 18,000 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีก 2,500 ล้านบาท เมื่อมีการหาข้อมูลย้อนหลัง จากการที่ สปสช.ต้องแจงข้อมูลกับทาง ครม. จะพบว่าในปี 2551-2553 สปสช.มีเงินค้างท่ออีก 33,900 ล้านบาท

จริงๆ แล้วหากพิจารณาย้อนไปอีกจะพบว่า ปัญหาการเงินของ สปสช.ในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว ไม่ได้เพิ่งเริ่มเมื่อไม่กี่ปี หรือเฉพาะเงินค้างท่อ แต่หากย้อนไปตั้งแต่เกิด สปสช.ในปี 2545 ช่วงแรกยังไม่เกิดกระแสโจมตีมาก แต่มาโด่งดังในช่วงสมัย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ เป็นปลัด สธ. ขณะนั้นก็มีความขัดแย้งระหว่าง สปสช.เกิดขึ้น มีเรื่องการขึ้นป้าย "30 บาทรักษาทุกโรค" จนนำไปสู่ความขัดแย้ง

นพ.วัลลภมองว่าระบบไม่ดีพอ คำนึงถึงการเงินมากเกินไป ปราศจากพี่ช่วยน้อง แต่ขณะนั้น นพ.วัลลภมีปัญหากับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. เรื่องคดีคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็มีการสั่งย้าย นพ.วัลลภไปสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ นพ.วัลลภยื่นใบลาออก

หลังจากนั้นประเด็นการบริหารจัดการกองทุน 30 บาทฯ ก็เงียบกริบ แทบไม่มีปลัดคนไหนกล้าแตะอีก แม้ในสมัย นพ.ไพจิตร์ วราชิต เป็นปลัด สธ. ปัญหาเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนก็เกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีเรื่องเงินค้างท่อออกมาเผยแพร่ในสื่อมาตลอด แต่เรื่องก็ไม่มากมายเท่ายุค นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ. ซึ่งมีแนวคิดไม่แตกต่างจาก นพ.วัลลภมากนัก เพราะสมัย นพ.วัลลภ เมื่อมีความขัดแย้งขึ้น สุดท้ายเกิดเอ็มโอยูในเรื่องการบริหารจัดการร่วมกัน

แต่ดูเหมือนครั้งนี้จะหนักหน่วงกว่า เพราะมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และล่าสุด เรื่องร้องเรียนมาถึง ป.ป.ท. 5 ข้อกล่าวหา คือ

1.คณะกรรมการ สปสช.บางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในด้านต่างๆ อย่างการนำเงินกองทุน 30 บาท รักษาทุกโรค ไปใช้โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ในกรณีให้มูลนิธิ ชมรม

2.คณะกรรมการ สปสช.ได้นำเงินไปใช้ในโครงการต่างๆ ในโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมาย สปสช.

3.คณะกรรมการ สปสช.ทำหน้าที่ดูแลประสานภาพรวมของเงินกองทุน 30 บาททั่วประเทศ ได้มีการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางแพทย์ลักษณะผูกขาดและมีเงิน ตอบแทน

4.มีลักษณะการกระทำเป็นการตกแต่งบัญชีเพื่อให้เข้าใจว่า สปสช.สามารถบริหารเงินกองทุนที่ได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ (ใช้งบประมาณหมด) โดยวิธีการโอนงบประมาณไปให้โรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น

และ 5.เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบการปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนของคณะกรรมการหรือเลขาธิการ สปสช. ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

กล่าวคือ ใช้ในอัตราสูงสุดที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น หรือแม้แต่ค่าตอบแทนเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการมีอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ได้ออกมาชี้แจงและจะทำหนังสือแจงไปยัง ป.ป.ท.ว่า 1.การจัดสรรเงินกองทุน 30 บาท ไปยังหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลนั้น ระเบียบ สปสช.มีการสนับสนุนในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งดำเนินการได้ 2.กรณีที่บอกว่ามีการจัดสรรเงินให้ รพ.เอกชนนั้น หากหมายถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเรื่องการฉายแสงผู้ป่วยมะเร็ง ทาง สปสช.ได้ร่วมมือกันจริง แต่การจ่ายเงินค่ารักษานั้นเท่ากับ รพ.ของรัฐ 3.กรณีที่อ่านในหนังสือพิมพ์ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน เป็นข้อหาเลื่อนลอย 4.การตกแต่งบัญชีก็ต้องมาดูว่าคือเรื่องอะไร หากหมายถึงการโอนงบประมาณล่วงหน้า อันนี้ไม่ใช่ตกแต่ง แต่เป็นการช่วยโรงพยาบาลก่อน จากนั้นมาดูว่าทำงานได้ในระดับไหนก็คิดตาม ผลงาน และ 5.เรื่องอัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุม ทุกอย่างเป็นระเบียบของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

การร้องเรียนครั้งนี้ตอกย้ำว่าความขัดแย้งในวงการหมอยังมีอยู่ และดูเหมือนว่ายังจะดำเนินต่อไป โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 11 มี.ค. 2558