“ยงยุทธ” เปิดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ปี 5 ฝากสสส.-ท้องถิ่น ร่วมสร้างฐานรากชุมชน มท.ชี้สร้างชุมชนเข้มแข็งต้องบูรณาการ
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นประธานในการเปิดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 “พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม” อย่างเป็นทางการ พร้อมมอบโล่ห์ประกาศเกียรติคุณให้แก่ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน จำนวน 36 แห่ง เพื่อเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ ให้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า สสส.ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดกิจกรรมเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นฯ เป็นประจำปีทุกปีจนถึงครั้งนี้เป็นปีที่ 5 ซึ่งแต่ละปีจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 3 ประการ คือ 1.การลดความเหลื่อมล้ำ โดยการสร้างโอกาสในอาชีพและเข้าถึงบริการสังคมของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน 2.การค้ำจุนกัน คือ การมีระบบและเครื่องมือช่วยผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยสามารถเปลี่ยนภาระให้เป็นโอกาสของสังคม 3.สร้างสรรค์รากหญ้า ด้วยการส่งเสริมชุมชนระดับรากหญ้าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งขยายและต่อยอดงานระดับชุมชน สร้างพื้นที่ต้นแบบเป็นพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนความคิดของสังคมจาก “บริโภคนิยม” เป็น “พอเพียง” งานวางรากฐานทางสังคมเป็นงานที่เร่งด่วน ตนอยากเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้นและชัดเจนโดยเร็ว ขอฝากสสส. ท้องถิ่น และทุกหน่วยงานด้านสังคม ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
ด้าน นายสมพร ใช้บางยาง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 แผนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การจัดงานในแต่ละปีของสสส. มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ของสังคมและนโยบายของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้าง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง และชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของเครือข่ายน่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ในการขับเคลื่อนขบวนการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน 6 ประการ คือ 1 การพัฒนาทักษะและเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นและองค์กรชุมชน จำนวนกว่า 230,600 คน 2.การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสสส.และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย 3 ปลูกฝังให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล โดยจัดทำหลักสูตรพัฒนาระบบข้อมูลตำบล 4.เชื่อมั่นในพลังของการเรียนรู้ร่วมกัน ของทุกอปท.เครือข่ายกว่า 2,000 แห่ง 5.อปท.ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ มีความพร้อมและทักษะในการบูรณาการงานเชิงประเด็นในพื้นที่ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและปัจจัยเสริมสร้างสุขภาวะ 6.วางรากฐานความเป็นพลเมือง ด้วยการณรงค์ “อาสาทำดี” และสร้างเครือข่ายอาสาทำดี
ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมส่งเสริมฯ มีชุมชนท้องถิ่นในการกำกับดูแลกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้ทำงานร่วมกับ สสส.เป็นแห่งแรกที่ อ.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช จนถึงขณะนี้สามารถขยายความร่วมมือเป็น 2,561 แห่ง ภายใน 5 ปี และมั่นใจว่าที่เหลืออีก 4,000-5,000 แห่ง จะดำเนินงานร่วมกันต่อไปเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันทั้งในส่วนของกรมฯ และ สสส. เพราะยอมรับว่าการทำให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นเรื่องยาก หากดำเนินงานโดยฝ่ายใดเพียงลำพังก็จะไม่เกิดประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการบูรณา เพราะ สสส. มีจุดแข็งในด้านวิชาการ สามารถช่วยสร้างให้เกิดนักวิจัยระดับชุมชนเพื่อพัฒนาและวางแนวทางให้ชุมชนของตนเองเข้มแข็งและยืนอยู่ได้แม้อยู่ในสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลง
- 19 views