เมื่อพูดถึงคำว่า “สุขภาพ” มีหลายมิติที่ต้องคำนึงถึง ไม่แต่เฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพใจ สุขภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ที่ดีและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ด้วยคำจำกัดความนี้ทำให้การดูแลสุขภาพจึงไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะในโรงพยาบาล ขณะที่แพทย์และพยาบาลซึ่งมีหน้าที่ด้านการรักษาเอง ไม่สามารถทำหน้าเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุม “ทีมหมอครอบครัว” จึงเป็นคำตอบของการดูแลแบบองค์รวม
นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร
จากประสบการณ์ 5-6 ปี ของการดำเนินงาน “ทีมหมอครอบครัว” ที่ รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี จนเป็นที่ยอมรับและได้มีการขยายรูปแบบการจัดตั้งทีมหมอครอบครัวไปยังจังหวัดอื่นๆ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการ รพ.แก่งคอย กล่าวว่า จุดเริ่มต้น “ทีมหมอครอบครัว” ที่นี่ เกิดจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรังที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เนื่องจากภายหลังจากที่รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและออก รพ.ไปแล้ว มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลับเข้ารักษาที่ รพ. ใหม่ และวนอยู่อย่างนี้ ส่วนใหญ่มาจากแผลกดทับและภาวะโรคที่ลุกลาม ซึ่งจากการติดดตามของเจ้าหน้าที่ รพ. พบว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดการดูแลต่อเนื่อง คนในครอบครัวขาดความรู้ในการดูแลผู้ป่วย
ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่า ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รัการดูแลที่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะกลับบ้านไปแล้วก็ตาม ควรมีทีมที่คอยติดตามดูแล เบื้องต้นจึงได้จัดตั้งทีมเยี่ยมบ้านขึ้น ช่วงแรกเป็นการติดตามผู้ป่วยรายบุคคล โดยใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่ และค่อยขยายจำนวนผู้ป่วยที่ต้องติดตามดูแลออกไป แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก และต้องดูแลต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่จำกัด จึงคิดรูปแบบดึง อสม. และจิตอาสาเข้ามีส่วนร่วมบริบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้
ในการบริบาลผู้ป่วย บางรายนอกจากการดูแลด้านการรักษาทางกายแล้ว ต้องได้รับการดูแลด้านจิตใจและการการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมควบคู่ ไม่ว่าจะในเเป็นทางขึ้นลงที่สะดวก ทางลาด การปรับส้วนให้เป็นแบบนั่ง รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็น เป็นต้น ดังนั้นจึงได้ดึงชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมและสนับสนุน ซึ่งต้องบอกว่าจากจุดแข็งของสังคมไทยที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้สามารถขยายครอบคลุมทั้ง อ.แก่งคอย และนำมาสู่การจัดตั้งทีมหมอครอบครัวได้
นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า “ทีมหมอครอบครัว” ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดระบบสุขภาพระดับอำเภอ ไม่ได้จำกัดเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่ประกอบด้วยผู้คนจากหลายส่วนช่วยกัน จึงทำให้ทีมหมอครอบครัวมีความเข้มแข็ง และชุมชนท้องถิ่นเองต่างยินดีสนับสนุน เนื่องจากเป็นการดูแลญาติพี่น้องและคนในพื้นที่กันเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.เป็นหัวหน้าที่คอยให้คำแนะนำให้ความรู้แก่ญาติพี่น้องผู้ป่วย และจิตอาสา เพื่อให้เกิดการดูแลที่ถูกต้อง ขณะที่ รพ.แก่งคอย จะเน้นการสนับสนุนด้านวิชาการ รวมถึงนักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพลงไปช่วยดูแลในรายที่ต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์
“หลังดำเนินโครงการทีมหมอครอบครัว รพ.แก่งคอย สามารถลดผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องกลับเข้ามารักษายัง รพ.ได้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดผู้ป่วยและความแออัดใน รพ.ลงได้ แต่ยังช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่เพียงแต่ได้รับการักษาทั่วถึง แต่ยังได้รับการดูแลที่ดีครอบคลุมในทุกมิติสุขภาพ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ผอ.รพ.แก่งคอย กล่าว และว่า สำหรับความยากของดำเนินการคือการสร้างความเข้าใจ ทำอย่างไรให้คนกลุ่มต่างๆ เห็นร่วมกัน และมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมเดียวกันได้
ด้วยตัวอย่างความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่เกิดขึ้นใน อ.แก่งคอยนี้ ได้นำไปสู่นโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” นพ.ประสิทธิชัย กล่าวว่า การผลักดัน “ทีมหมอครอบครัว” สู่ “นโยบายกระทรวงสาธารณสุข” นั้น เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 15% ของประชากร จึงต้องมีกลไกการดูแลที่ดี เพราะผู้สูงอายุเหล่านี้มักจะมีภาวะเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ทั้งทางกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม
รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาแต่ละพื้นที่ต่างมีการจัดตั้งทีมสุขภาพระดับอำเภอกันอยู่แล้ว แต่อาจเรียกในชื่อแตกต่างกันไป ซึ่งการยกระดับโดยกำหนดเป็นนโยบายทีมหมอครอบครัวจะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนจากส่วนต่างๆ เพื่อร่วมบูรณาการ
ส่วนแนวทางการผลักดันนโยบายทีมหมอครอบครัว นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า เริ่มจาก 1.การทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทีมหมอครอบครัง เข้าใจในโครงสร้างที่เน้นการมีส่วนร่วม แต่ละคนมีหน้าที่อะไร ส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากงานเดิมซึ่งแต่ละพื้นที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว 2.สำรวจเป้าหมายกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลให้ชัดเจน เบื้องต้นได้กำหนด 3 กลุ่มเป้าหมาย คือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรังติดบ้านติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง อย่างผู้ป่วยอัมพฤต อัมพาต ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น และ 3.การสร้างองค์ความรู้ที่จะเข้าไปดำเนินการ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ดำเนินงานจากแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้จากความแตกต่างของพื้นที่ ชุมชน และสภาพสังคม ส่งผลให้การดำเนินงานทีมหมอครอบครัวมีความยากง่ายแตกต่างกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ชนทบท อำเภอเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ และกรุงเทพมหานคร ต่างมีรูปแบบของการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ชนบทซึ่งเป็นพื้นที่ร้อยละ 90 ของประเทศ ส่วนใหญ่มีฐานของการพัฒนาทีมหมอครอบครัวอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มนี้ก้าวไปได้เร็วต่างกับอำเภอเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนกรุงเทพฯ ยังอยู่ระหว่างการนำร่องเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม
“การดำเนินงานทีมหมอครอบครัว เขตชนบทจะได้เปรียบเพราะหลายพื้นที่ได้วางรูปแบบและได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว ประกอบกับประชากรในพื้นที่ไม่มาก เป้าหมายชัดเจน เข้าถึงได้ง่าย ต่างจากเขตอำเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ ส่วน กทม.นั้นไม่ต้องพูดถึง นอกจากประชากรที่มีจำนวนมากแล้วยังมีความหลากหลาย มีทั้งประชากรทะเบียนราษฎร์ ประชากรแฝง และรวมไปถึงแรงงานต่างด้าว รูปแบบที่อยู่อาศัยหลากหลาย ทั้งอาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ประกอบกับความไว้ใจของคนใน กมท.ที่ระวังตัว ทำให้การเข้าถึงทำได้ยาก จึงต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป” นพ.ประสิทธิชัย กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ในการดำเนินงานระดับประเทศ เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายจัดตั้งทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีม เป็นการคำนวณจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ในการลงพื้นที่เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมาย และต่อไปจะขยายเพิ่มเป็น 40,000-50,000 ทีม ซึ่งหากทำตรงนี้สำเร็จการขยายเพิ่มไปเรื่องการดูแลสุขภาพอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ต่างมีใจที่อยากทำงานนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว หากได้ทีมสนับสนุนก็จะยิ่งทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันยังเป็นการลดภาระงานแพทย์และพยาบาลที่ให้การรักษาใน รพ. ด้วยเหตุนี้ “ทีมหมอครอบครัว” ไม่เพียงแต่เหมาะกับบริบทสังคมไทย แต่ยังรองรับ “สังคมผู้สูงอายุ” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
- 501 views