สป.สธ.เดินสายประชุมจัดทำกรอบอัตรากำลังคน 4 ภาค เตรียมวิเคราะห์ภาพรวมปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังคนด้านสุขภาพทั้งประเทศ เผยเป็นครั้งแรกของ สธ.ในรอบหลายสิบปี พร้อมสั่งหน่วยบริการทุกระดับตั้งแต่ รพ.สต./รพช./รพศ./รพท. เร่งวิเคราะห์อัตรากำลังในหน่วยบริการตนเอง แล้วเสร็จในเดือน มี.ค. นี้
นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้จัดการประชุมการจัดทำกรอบอัตรากำลังบุคลากรด้านสุขภาพ 4 ภาค เพื่อชี้แจ้งผู้บริหารทุกระดับและผู้รับผิดชอบงานบริหารทรัพยากรบุคคลของเขตสุภาพ/จังหวัด/โรงพยาบาล เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำกรอบอัตรากำลังบุคลากรด้านสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มสายวิชาชีพและสนับสนุน เพื่อนำไปบริหารจัดการกำลังคนของสถานบริการในทุกระดับ และใช้เป็นกรอบการจ้างงานบุคลากรทุกสายงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของสถานบริการสุขภาพ นำไปสู่การจัดกรอบอัตรากำลังบุคลากรด้านสุขภาพในภาพรวมของ สป.สธ.ทั้งหมด
ทั้งนี้หลักการจัดทำกรอบอัตรากำลังบุคลากรด้านสุขภาพจะเกี่ยวข้องกับนโยบายหลักคือแผนการจัดระบบบริการสุข ภาพ (Service Plan) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน คน และของ เพื่อจัดบริการรักษาพยาบาลแต่ละเขตให้ทัดเทียมกัน โดยเฉพาะในด้านกำลังคนซึ่งจะดูว่าแต่ละพื้นที่มีบุคลากรขาดเกินเท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่ ในที่นี้รวมถึงการดูในเรื่องประสิทธิภาพกำลังคนด้วย ซึ่งลักษณะงานในระบบสุขภาพแตกต่างจากงานอื่นโดยต้องใช้คนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ทำให้ สป.สธ. ที่ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,700 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กว่า 800 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) อีกกว่า 100 แห่ง จึงมีบุคลากรทุกสายงานและทุกการจ้างงานทั้ง ข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างชั่วคราวที่อยู่ในระบบมากกว่า 3.4 แสนคน
นพ.สุเทพ กล่าวว่า ในการจัดทำแผนระบบบริการสุขภาพ เมื่อ สธ.กำหนดว่าทุกเขตจะต้องมี รพ.ผ่าตัดหัวใจ รักษามะเร็งได้ นอกจากงบประมาณและเครื่องมือที่ต้องสนับสนุนลงไปแล้ว ที่สำคัญคือต้องมีอัตรากำลังคน โดยต้องดูว่า ในกรณีการให้บริหารผ่าตัดหัวใจต้องใช้บุคลากรด้านใดบ้าง นอกจากแพทย์ผ่าตัดหัวใจ อาจต้องมีพยาบาลห้องผ่าตัดและบุคลากรที่เชี่ยวชาญบางสายงาน อาทิ นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนจำกัด ซ้ำยังผลิตได้เพียงปีละ 30 คนเท่านั้น ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะหากแม้ว่าจะมีทั้งงบประมาณและเครื่องมือแล้ว แต่ไม่มีบุคลากรก็ให้บริการไม่ได้ ดังนั้นเรื่องอัตรากำลังจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก สป.สธ.จึงต้องจัดทำแผนเพื่อวิเคราะห์เพื่อจัดทำอัตรากำลังในระบบทั้งหมด โดยให้หน่วยบริการในสังกัด สป.สธ.แต่ละแห่งกลับไปวิเคราะห์อัตรากำลังคนของตนเอง โดยให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมและนำเสนอกลับมายัง สป.สธ.
ส่วนวิธีการวิเคราะห์อัตรากำลังคน โดยใน 25 สายวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักจิตวิทยา และนักกายภาพบำบัด เป็นต้น จะใช้เครื่องมือ 3 ชิ้นในการประเมิน คือ 1.ภาระงานต่อชั่วโมงการทำงาน (Full-time equivalent : FTE) เพื่อดูความพอเพียงของอัตรากำลังว่าควรมีจำนวนเท่าไหร่เพื่อให้เพียงต่อการบริการ ซึ่งจะใช้ได้กับสายวิชาชีพที่มีภาระงานชัดเจน 2.ในส่วนของสายวิชาชีพที่ไม่เคยมีในหน่วยบริการ แต่จำเป็นต้องเพิ่มเติม อย่างนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ตรงนี้จะต้องมีการทำหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งอาจศึกษาข้อมูลจาก รพ.ใหญ่เพื่อเปรียบเทียบ และ 3.การวัดสัดสวนบุคลากรต่อจำนวนประชากรในพื้นที่ เครื่องมือนี้จะใช้วิเคราะห์ความพอเพียงของบุคลากรใน รพ.สต. ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 นี้จะบอกได้ว่า แต่ละพื้นที่มีคนขาดเกินเท่าไหร่ และต้องเพิ่มเติมอย่างไร
อย่างไรก็ตามภาพรวมอัตรากำลังบุคลากร 25 สายวิชาชีพ เบื้องต้นขาดแคลนทั้งหมด แต่จะมากน้อยแตกต่างกันไป บางสายวิชาชีพขาดมากเนื่องจากจำนวนที่จำกัดแล้ว อย่างนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการพูดและได้ยิน ซึ่งในระบบขณะนี้มีไม่ถึง 100 คน แถมการผลิตแต่ละปียังมีน้อยมากแล้ว ยังมาจากการขยายหน่วยบริการ อย่างเช่น ศูนย์โรคหัวใจที่ต้องมีบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อรองรับ ส่งผลให้ทุกในสายวิชาชีพขาดแคลนและต้องผลิตเพิ่มเติมทั้งหมด โดยที่ผ่านมา สป.สธ.ได้หารือกับมหาวิทยาลัยในการผลิต และในอนาคตจะมีการ MOU ร่วมกันเช่นเดียวกับนักเรียนทุน แต่ทั้งนี้จะต้องได้จำนวนอัตรากำลังที่ชัดเจนก่อนในการจัดทำแผน รวมไปถึงความต้องการบริการสุขภาพเพิ่มเติมของประชาชน โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้จำนวนการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น
“สธ.มีนโยบายให้ทุก รพ.และ รพ.สต. ไปวิเคราะห์อัตรากำลังคนใน รพ.ตนเองว่า ขณะนี้มีคนขาดเท่าไหร่ ต้องเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง ที่ต้องประกอบการพิจารณาทั้งในด้านประสิทธิภาพการทำงาน แผนการจ้างงานที่เหมาะสม และภาระค่าใช้จ่ายกำลังคน ทั้งนี้นับเป็นการทบทวนอัตรากำลังคนในระบบ สธ.ครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี ที่เสมือนเป็นงานวิจัยระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลชัดเจนและสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้” ผู้ช่วยปลัด สธ. กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ข้อมูลจากการวิเคราะห์อัตรากำลังคนนี้จะนำไปใช้ในการพูดคุยกับรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรในระบบสุขภาพหรือไม่ นพ.สุเทพ กล่าวว่า การบรรจุตำแหน่งคงต้องบอกว่า ด้วยบุคลากรในระบบที่มีจำนวนมาก คงไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ส่งผลให้ต้องเป็น พกส.แทน แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าในบางสายวิชาชีพที่ขาดแคลนและมักมีการดึงตัวจากภาคเอกชน หากไม่มีตำแหน่งข้าราชการบรรจุเราคงจะดึงคนเหล่านี้ไว้ในระบบไม่ได้ ซึ่งนโยบายจำกัดกำลังคน (zero growth) จะนำมาใช้กับระบบสุขภาพไม่ได้ จึงอยากให้เข้าใจปัญหานี้
- 25 views