สธ.รอ ครม.อนุมัติบรรจุ ขรก.สธ. ตามมติ ครม.ปี 55 รอบ 3 จำนวน 7,547 อัตรา เผยส่งข้อมูลเสนอตั้งแต่ ม.ค. แล้ว แถมเชิญ 5 หน่วยงานรับฟังชี้แจงข้อมูล พร้องแจงข้อท้วงติง ก.พ. ถ่ายโอนภารกิจต้องโอนถ่ายทั้งพวงบริการ หากโอนแยกหน่วยบริการอาจกระทบประชาชนได้
นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์
นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบรรจุข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 7,547 อัตรา ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นการบรรจุข้าราชการในรอบที่ 3 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ส่งเรื่องเพื่อขอรับการบรรจุตำแหน่งข้าราชการในรอบที่ 3 ตามมติ ครม.เมื่อปี 2555 เพื่อนำเสนอต่อ ครม.แล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากในการพิจารณาของ ครม.ต้องรอขอความเห็นชอบทั้งจาก 5 หน่วยงานก่อน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ผ่านมา ก.พ.เห็นว่า สธ.ยังติดเงื่อนไขในเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านประสิทธิภาพและกำลังคน
ทั้งนี้เพื่อให้มีการอนุมัติบรรจุโดยเร็ว ที่ผ่านมา สธ.จึงได้เชิญ ก.พ.และอีก 4 หน่วยงาน เพื่อชี้แจงข้อมูลและทำความเข้าใจไปแล้ว ดังนั้นขณะนี้เรื่องจึงอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อให้ ครม.อนุมัติเท่านั้น ทั้งนี้บุคลากรในระบบ สธ.มีจำนวนกว่า 3.4 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการเพียงแค่ 1.7 แสนคนเท่านั้น ที่เหลือเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างชั่วคราว ซึ่ง รพ.ต้องรับผิดชอบเงินเดือนและค่าตอบแทนเอง หากได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเพิ่มขึ้น 7,547 ตำแหน่ง จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย รพ.ได้ ทั้งยังเป็นการคงบุคลากรไว้ในระบบ
“ตามมติ ครม.ปี 55 ที่อนุมัติอัตราบรรจุข้าราชจำนวน 22,641 อัตรา และให้ทยอยบรรจุโดยแบ่งออกเป็น 3 รอบ รอบละ 7,547 อัตรา ตั้งแต่ปี 2556-2558 นั้น ขณะนี้ได้มีการบรรจุไปเพียง 2 รอบเท่านั้น ส่วนรอบที่ 3 ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยมี พกส.และลูกจ้างชั่วคราวที่ยังรอการบรรจุในครั้งนี้” ผู้ช่วยปลัด สธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการบรรจุข้าราชการ สธ.ในรอบที่ 2 ทางเลขาธิการ ก.พ. ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ปัญหาขาดแคลนบุคลากรของ สธ.ไม่สามารแก้ไขโดยการเพิ่มอัตราข้าราชการ พร้อมระบุถึงสาเหตุปัญหา อาทิ การไม่ปรับบทบาทภารกิจและถ่ายโอนไปยังหน่วยงานอื่นนั้น นพ.สุเทพ กล่าวว่า เรื่องการถ่ายโอนหน่วยบริการเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานาน โดยข้อเสนอนี้มุ่งตรงเพื่อลดจำนวนข้าราชการในระบบ โดยมอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับภาระแทน แต่ต้องเข้าใจว่างานรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพไม่เหมือนงานบริการอื่นที่สามารถจัดการเบ็ดเสร็จในจุดเดียวได้ แต่เป็นงานที่ต้องต่อเนื่องทั้งระบบ อย่างการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องเชื่อมโยงกันทั้งทั้งหมด ที่นอกจากทางการรักษาแล้วยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายรักษา ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อประชาชน รวมไปถึงการควบคุมป้องกันโรคที่ต้องทำต่อเนื่อง ทั้งนี้ สธ.ไม่ได้คัดค้านการถ่ายโอนภารกิจ แต่หากจะดำเนินการควรทำเป็นการถ่ายโอนทั้งพวงบริการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ ซึ่งหากถ่ายโอนแบบแยกหน่วยบริการก็จะประสบปัญหาได้
ต่อข้อซักถามว่า ในหนังสือดังกล่าวยังระบุถึงการบริหารกำลังคนของ สธ.ที่ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากยังมีปัญหาการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีการช่วยราชการจำนวนมาก ที่เป็นการใช้กำลังคนไม่เหมาะสมนั้น นพ.สุเทพ กล่าวว่า เป็นข้อหาหนึ่ง ซึ่งเรามีตัวเลข อย่างในส่วนของพยาบาลนั้น พบว่ามีกว่าครึ่งหนึ่งที่กระจายอยู่ใน รพ.สต.ในจังหวัดต่างๆ ส่วนกรณีการช่วยราชการนั้น เป็นเพียงแค่การบริหารจัดการภายใน สธ. ซึ่งบางแห่งมีอัตราตำแหน่งอยู่ แต่ภาระงานน้อย ขณะที่บางแห่งมีภาระงานมากแต่คนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการปรับให้เหมาะสม อย่างไรก็ตามในเรื่องอัตรากำลังคนนั้น อยากให้ดูมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด อย่างอัตราแพทย์ต่อประชากร ซึ่งขณะนี้ไทยยังมีจำนวนแพทย์ต่อประชากรที่ต่ำกว่าที่กำหนดอยู่มาก
- 4 views