นสพ.สยามรัฐ : จากกรณีปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อ ลากยาวข้ามปีตั้งแต่ปี 2557 ถึงต้นปี 2558 กับ "ศึกในกระทรวงหมอ" ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรณีรูปแบบการบริหารจัดการงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ลงตัว
ขณะที่ สธ.เสนอเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณสุขผ่านกลไกเขตบริการสุขภาพโดยระบุจะเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขได้โดยใช้กลไกด้านการเงินการคลังขณะเดียวกันสปสช.นำเสนอทิศทางการปฏิรูปโดยเน้นการกระจายอำนาจและความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการสาธารณสุข
รวมทั้งกรณีเกิดข้อวิตกกังวลในเรื่องการจัดสรรงบประมาณบัตรทองแบบใหม่ ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย ชมรมแพทย์ชนบท โดยระบุหากคำสั่งดังกล่าวมีผล โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทั่วประเทศ จะยุติการทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2558
ข่าวคราวที่เกิดขึ้นได้สร้างความสับสนทั้งกับข้าราชการผู้ปฏิบัติงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปว่า ผลประโยชน์ที่แท้ที่จะได้กับสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างเรียกว่าเป็นการปฏิรูปในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ จะตกอยู่ที่ประชาชนจริงหรือไม่...
นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข มองเรื่องดังกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช.ในความคิดเห็นของตนนั้น มองว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็รู้จักกัน และก็ยึดถือประโยชน์ของประชาชนหวังดีกับประชาชนเป็นสำคัญ และมีความตั้งใจจริงที่จะให้ระบบสาธารณสุขของประเทศดีขึ้นเพียงแต่วิธีการอาจจะคิดแตกต่างกัน
ฝ่ายกระทรวงคิดว่าการใช้วิธีการที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโยกย้ายเงินงบประมาณออกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แต่ต้องการให้ปรับลดกองทุนเหมาจ่ายรายหัวจากเดิม 9 กองทุนให้เหลือเพียง 4 กองทุนและให้โอนอำนาจการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในหมวดเหมาจ่ายรายหัวมาให้เขตสุขภาพบริหาร 12 เขต บริหารจัดการเอง โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะสามารถเกลี่ยความรับผิดชอบไปยังโรงพยาบาลที่ยากลำบากและขาดแคลนได้
ทั้งนี้ ในแต่ละเขตสุขภาพจะรู้ปัญหาทำให้มองภาพรวมได้ง่ายกว่า ซึ่งขัดแย้งกับหลักบริหารจัดการงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ที่ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้แต่สถานพยาบาลซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่จำนวนประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เกิดสภาวะขาดทุนในหลายโรงพยาบาล
หากมองย้อนกลับไปกว่า 12 ปี ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการ ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
"เมื่อส่งเงินงบประมาณไปยังสถานพยาบาลระดับอำเภอแล้วก็เป็นการยากที่จะติดตาม จึงมองว่าการให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขตดูแลพิจารณาจะเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าเพราะเห็นปัญหา และภาพรวมว่าจะต้องลงเงินงบประมาณไปในที่แห่งใดจะทำให้การจัดสรรเงินลงไปในแต่ละโรงพยาบาลดีขึ้นจากเดิม
คือ มีเหตุผล มีเงินพอ และมีการบริหารที่ดีขึ้นไม่เดือดร้อน ความขัดแย้งจากวิธีการที่นำเสนอกันนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อดูแลสุขภาพให้กับประชาชนให้ดีขึ้น จึงน่าจะพูดคุยกันได้ เพราะต่างฝ่ายก็อยากเห็นประโยชน์กับชาวบ้าน สิ่งที่ผ่านมาก็ปรับให้ดีขึ้นได้"
อย่างไรก็ตาม กับข้อที่กังวลกันว่าจะส่งผลกับสิทธิในการรักษานั้น นพ.วัลลภกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเมื่อการจัดการสภาพคล่องของสถานพยาบาลดีขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลดีกับการทำงานเช่นกัน ซึ่งถือเป็นหลักโดยธรรมชาติ...
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 2 มีนาคม 2558
- 2 views