รมช.สธ.แนะทีมหมอครอบครัว ยึด 3 หลักในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุติดเตียงและผู้พิการในชุมชน คือ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไปรักษาที่โรงพยาบาลน้อยลง และผู้ดูแลผู้ป่วยมีทุกข์น้อยลง โดยมีโรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดระบบให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการส่งต่อรักษาแบบเป็นระบบ สร้างความมั่นใจ ไม่กังวลเมื่อต้องไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และติดตามการดำเนินงาน “ทีมหมอครอบครัว”(Family care term) ที่จังหวัดหนองคาย และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่สะดวก ได้รับบริการที่ดี และหากเป็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุติดเตียงหรือพิการ ต้องได้รับบริการที่บ้านที่ดีเหมือนรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพราะเป็นเรื่องที่ลำบากและเสียค่าใช้จ่ายมาก สร้างทุกข์แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลอย่างมาก จึงได้จัดให้มีระบบดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือกลุ่มติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตที่มีประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ ด้วยทีมหมอครอบครัว(Family care term) ปีนี้นำร่อง 30,000 ทีมใน 250 อำเภอ
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยติดเตียงนับมีความยากลำบากในการดูแล จำเป็นต้องได้รับการดูแลใส่ใจจากผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง จึงมอบหลักการในการดูแลผู้สูงอายุ/ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการในชุมชน 3 ข้อคือ 1.ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สังเกตได้ง่ายๆจากผู้ป่วยไม่มีกลิ่นปัสสาวะ ขาหนีบไม่แดง 2.ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลน้อยลง เพราะได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ดูแลผู้ป่วยและทีมหมอครอบครัว 3.ผู้ดูแลผู้ป่วยมีทุกข์น้อยลง เพราะส่วนใหญ่มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ ต้องมีเวลาไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพ และที่สำคัญอีกประการคือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนการทำงานให้ทีมหมอครอบครัวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด้วยระบบให้คำปรึกษา รวมทั้งจัดระบบส่งต่อที่มีคุณภาพ สร้างความมั่นใจประชาชน ไม่กังวลว่าต้องไปพบใครเมื่อต้องไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่
จากการตรวจเยี่ยมที่ จ.หนองคาย พบว่า สามารถแปลงนโยบายลงสู่การปฎิบัติได้เป็นอย่างดี เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พื้นที่อื่นได้ ได้คัดกรองเพื่อจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามภาวะพึ่งพิง 57,926 คน พบเป็นผู้สูงอายุติดเตียง 991 คน พบป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน 14,667 คน และพบมีความพิการร่วม 1,413 คน ได้นำร่องพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ใน 5 ตำบล มีพยาบาลวิชาชีพเข้ารับการอบรมหลักสูตรครู ก ผู้ดูแลผู้ป่วย(Care Manager)ของกรมอนามัย มี อสม.เชี่ยวชาญ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Care giver) ขณะนี้มีหมอครอบครัว 438 คนจากสหวิชาชีพ โดย 1 คน ดูแลคนในครอบครัว 1,184 คน มีแพทย์ที่ปรึกษา 53 คน โดยใช้ช่องทางการปรึกษาทางไลน์(Line)หรือทางโทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากการลงพื้นที่เยี่ยมการทำงานของทีมหมอครอบครัว ที่ต.นาหนัง อ.โพนพิสัย พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ได้รับการดูแลด้วยทีมหมอครอบครัวร่วมกับลูกชายของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ภายใน 4 เดือนหลังป่วย โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่น จิตอาสาในชุมชน อสม.ร่วมช่วยกันดูแล ดังนั้นความสำคัญของผู้ดูแล และทีมหมอครอบครัวที่ใส่ใจดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และบางรายสามารถฟื้นสภาพกลับมาเหมือนปกติได้
- 19 views