นสพ.มติชน : พลันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกคู่กรณี คือ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ในฐานะหัวหน้าทีมข้าราชการและบุคลากรในสังกัด สธ.เข้าเจรจาหย่าศึกปัญหาต่างๆ ในแวดวงสาธารณสุขเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โดยกำหนดให้ได้ข้อยุติภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะครบเส้นตายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้นั้น รอบนี้มีกระแสข่าวว่า หากผลการเจรจาล้มเหลว อาจจะต้องมีการปลดคนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่งเพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปได้
คำคาดโทษของรองนายกฯ ประวิตร จึงเป็นที่มาของการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตลอดทั้งสัปดาห์ เพื่อยกร่างบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายว่าในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทั้งสองฝ่ายจะนั่งโต๊ะแถลงข่าวจับมือกันทำงาน
ท่ามกลางการหาทางออกร่วมกัน ยังไม่มีใครสรุปได้ว่า ผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบ แต่หากประเมินอย่างแย่ที่สุดแล้วว่าทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ คำถามที่ตามมาคือ แล้วจะปลดใคร ? หรือหากปลดคนใดคนหนึ่งออกแล้ว การันตีได้หรือไม่ว่าปัญหาในแวดวงสาธารณสุขทุกเรื่องจะคลี่คลายไปในทางที่ดี
จากการเกาะติดปัญหาในแวดวงสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งต่างๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่ซึมลึกอยู่ในระบบและโครงสร้างทั้งของ สธ. และ สปสช. รวมไปถึงหน่วยงานตระกูล ส.ที่แตกตัวออกมาจาก สธ. แต่ทั้งหมดมาปะทุเดือดในสมัยของปลัดณรงค์ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แนวทางนี้ชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) และชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้การสนับสนุน นพ.ณรงค์เต็มสูบก็จริง แต่ทว่า ชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มเอ็นจีโอด้านสาธารณสุขกลับไม่เอาด้วย ทำให้ภาพที่เห็นออกสื่อคือ ทั้งแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอไปอยู่ข้าง สปสช.อย่างเต็มที่
เหตุใดจึงบุคลากรในองค์กรเดียวกันกลับมีความคิดเห็นออกไปทิศทางที่แตกต่างกัน เรื่องนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บอกว่า ปัญหาของ สธ.เกิดจากโครงสร้างการบริหารและระบบงบประมาณสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ เริ่มตั้งแต่ก่อเกิด สปสช.ในปี 2545 มีการแยกตัวและดึงบทบาทหน้าที่ผู้ซื้อและกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เอง ขณะที่การบริหารจัดการงบประมาณ ก็มีวิธีคิดที่ในมุมคน สธ.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องนี้แม้จะปลดใครก็ตาม คงไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาที่แท้จริง สิ่งสำคัญ เรื่องนี้ต้องมีผู้ใหญ่ที่เป็นกลางและมีบารมีในการให้สองหน่วยงานมาพูดคุยและทำความเข้าใจ ซึ่งข่าวที่ พล.อ.ประวิตรเรียกทั้ง รมว.สธ. และ ปลัด สธ.หารือถือเป็นเรื่องที่ดี หากเรื่องจบลงได้ แต่อาจเป็นเพียงระยะแรก ตราบใดที่ไม่มีการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างคน สปสช.และคน สธ. ปัญหาก็จะมีขึ้นอีก
"ปัญหาของ สปสช. และ สป.สธ. ควรต้องคลี่คลายด้วย รมว.สธ. แต่ปัญหาคือ ปลัด สธ.อาจ มองว่า รมว.สธ.มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับ สปสช.หรือไม่" นพ.เจตน์กล่าว
นพ.วัลลภ ไทยเหนือ
ด้าน นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัด สธ.ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับ นพ.ณรงค์กล่าวว่า ไม่ขอออกความเห็นเรื่องที่ทั้งสองคนถูกรองนายกฯเรียกพบ หรือควรปลดหรือไม่ปลดใคร
"แต่อยากบอกเพียงว่า ถึงเวลาที่ทั้งสองคนต้องปรับตัวเข้าหากัน นพ.รัชตะควรเป็นตัวของตัวเอง อย่าฟังใคร ทำงานบนพื้นฐานที่ควรจะเป็น หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ถ้า นพ.ณรงค์ไม่ฟังก็ถือว่าผิด ฐานไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขณะเดียวกัน นพ.ณรงค์ก็ต้องปรับตัว ต้องพูดคุยปรึกษาหารือกับ รมว.สธ.ให้มากขึ้นด้วย" นพ.วัลลภกล่าว
ทางด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นปลัด สธ. หรือ รมว.สธ. แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สะสมมายาวนาน และบุคลากรในสังกัด สธ.ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศต่างรู้ดีและมีความไม่พอใจมานานแล้ว การที่ปลัดณรงค์ออกมาเป็นผู้นำเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า หากไม่มีปลัดณรงค์ความขัดแย้งจะยุติ เพราะความขัดแย้งอยู่ในโครงสร้าง
"รมว.สธ.ผิดตั้งแต่ต้นที่มีการตั้งคณะทำงานที่ปรึกษาเป็นกลุ่มหน่วยงานตระกูล ส. ที่สำคัญแต่งตั้ง รมช.สธ.ซึ่งมาจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) หนึ่งในองค์กรภาคีตระกูล ส. สิ่งเหล่านี้เป็นปมบ่มเพาะรอวันแตกหักทั้งสิ้น ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาด้วยการปลดคนใดคนหนึ่งออกก็ไม่ควรเป็นปลัดณรงค์ เพราะหากปลดปลัดณรงค์ ผมและบุคลากรจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศจะออกมาประท้วงใหญ่เรียกร้องความไม่เป็นธรรมนี้ ข้อเสนอคือ หากจะปลดขอให้ปลดทั้งเข่ง ทั้ง รมว.สธ. รมช.สธ. และปลัด สธ. แล้วเลือกคนใหม่ไปแทน ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่จบแน่นอน" นพ.ฐาปนวงศ์กล่าว
ฟากของ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ปัญหาสะสมมานานจนยากจะพูดคุย เมื่อ นพ.ณรงค์ไม่ยอม ขณะที่ นพ.รัชตะก็ไม่เด็ดขาด ไม่ตัดสินใจอะไร ทั้งๆ ที่ควรทำ เหมือนกรณีที่ถูกกลุ่มคลุมปี๊บคัดค้านเรื่องเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ควบตำแหน่ง รมว.สธ.ที่ นพ.รัชตะไม่ตัดสินใจ จนสุดท้ายก็ต้องเลือก ดังนั้น หากผู้มีอำนาจจะต้องปลดใคร ขอให้ปลดทั้งคู่ก็ดี
เข้าใจตรงกันนะ !
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ warunee11@yahoo.com
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558
- 13 views