ครม.เห็นชอบระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ให้ทุกอำเภอและทุกเขตมีคณะกรรมการฯ มีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ ส่วน กทม.ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นเลขานุการ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างระเบียบ

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย ปลัดกรุงเทพมหานคร เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นกรรมการ โดยมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบกลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาการสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนา สนับสนุนและแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต

2. กำหนดให้ในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัดเว้นแต่กรุงเทพมหานคร มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชนและผู้แทนภาคประชาชนในอำเภอ จำนวนไม่เกิน 21 คน โดยมีนายอำเภอ เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแผนงานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอำเภอ และดำเนินการให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผนงานดังกล่าว โดยบูรณาการและระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในอำเภอ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

3. กำหนดให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ รับผิดชอบงานธุรการ และมีอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำแผนงานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอำเภอ ตลอดจนเป็นหน่วยงานประสานงานในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานและยุทธศาสตร์ดังกล่าว

4. กำหนดให้ในแต่ละเขตของกรุงเทพมหานครมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาชนในเขตจำนวนไม่เกิน 23 คน โดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดแผนงานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเขต และดำเนินการให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผนงานดังกล่าว โดยบูรณาการและระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในเขตพื้นที่ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

5. กำหนดให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต รับผิดชอบงานธุรการ และมีอำนาจหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำแผนงานและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเขต ตลอดจนเป็นหน่วยงานประสานงานในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานและยุทธศาสตร์ดังกล่าว

6. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้