สคอ.หนุน มติ ครม.แก้ กม.ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ย้ำห่วงหน่วยปฎิบัติงานขยับช้า หวั่นช่วยลดเจ็บตายไม่ทันการณ์
ตามที่มติคณะรัฐมนตรีได้มีการเห็นชอบแก้กฎหมายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ได้นำมติที่ประชุม นปถ.เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการ
โดยสาระสำคัญของมติ นปถ.คือ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้แก้ไขกฎหมายใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.กรณีเมาแล้วขับ
2.ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด
3.ใบอนุญาตขับขี่
4.การออกใบอนุญาตรถสาธารณะ
และ 5.การคาดเข็มขัดนิรภัย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสนับสนุนเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจจับความเร็ว และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด โดยให้เร่งดำเนินการให้เสร็จทันบังคับใช้ก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 เพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นายพรหมมิททร์ กัณธิยะ
นายพรหมมิททร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายินดี และขอสนับสนุนในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อจะได้ช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แต่สิ่งที่กังวล คือ การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยที่ผ่านมายังขาดกลไกการบริหารจัดการที่มีเอกภาพระดับชาติเข้ามาสานต่อ ยังคงใช้คำว่า “ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” รับไปดำเนินการ ซึ่งข้อเท็จก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทบจะขยับต่อได้อย่างยากลำบาก ถ้าทำได้จริงก็คงทำไปนานแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นกลไกแบบเดิมๆ ยากที่จะช่วยลดการเจ็บตายได้ทันเวลา
“ทุกวันนี้เราบกพร่องทั้งระบบ มีคนตาย 50 – 70 ราย ขาดแคลนทั้งคน ทั้งเงิน ทั้งเครื่องมือ ทุกข้อเสนอที่ผ่านมาดีทุกอย่างถ้าทำได้จริง ผมเสนอให้รัฐบาลยกระดับและจัดตั้งให้มีองค์กรกลาง ที่มีทั้งคน เงิน งาน อย่างมีเอกภาพ มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ทำงานเต็มเวลาเพื่อควบคุมหรือสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดการกับปัญหาเรื้อรังนี้เสียที มิเช่นนั้นปัญหาผลกระทบหรือความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย ก็ยากที่จะคลี่คลายได้อย่างที่ควร และ ครม.จะช่วยเติมเต็มส่วนขาดที่ยังรอคอย เชื่อว่ายิ่งปล่อยให้เนิ่นนานไป ชีวิตคนไทยก็คงต้องเสี่ยงตายกันทุกวันอย่างหลีกหนีไม่พ้น” นายพรหมมินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ สาระสำคัญแก้ไขกฎหมาย 5 ประเด็นคือ
1.เมาแล้วขับ แก้ไข 5 ข้อ
1.1 กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เกิน 20 มิลลิกรัมให้ถือว่าเมาในกลุ่ม 1) ผู้ขับขี่ไม่ถึง 20 ปี บริบูรณ์ 2) ผู้ไม่มีใบอนุญาตขับรถ 3) ผู้ที่มีใบอนุญาตชั่วคราว
1.2 เพิ่มโทษผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับ ขั้นต่ำเดิม 5,000 บาท เป็น 10,000 บาท แล้วให้ศาลมีอำนาจสั่งยึดรถไม่เกิน 7 วัน เจ้าของต้องชำระค่าใช้จ่ายค่าดูแลรถด้วย
1.3 ทำคำสั่ง คสช.ที่ 46/2558 ให้เป็นกฎหมายถาวร คือ 1) การสั่งยึดรถได้ 2) เพิ่มโทษฐานแข่งรถในทาง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6,000 - 20,000 บาท
1.4 กำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ให้การทดสอบครอบคลุมการทดสอบจากลมหายใจ ปัสสาวะและเลือด
1.5 จัดทำระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประวัติผู้กระทำผิด (ผู้กระทำผิดซ้ำ)
2.ขับรถเร็ว แก้ไข 2 ข้อ
2.1 การลดความเร็วในเขตเมืองให้เหมาะสม สอดคล้องกับถนนแต่ละประเภท
2.2 เพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10,000 บาท (ทั้ง พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.ทางหลวง)
3.ใบอนุญาตขับรถ แก้ไข 3 ข้อ
3.1 เข้มงวดเรื่องใบอนุญาต “ออกยาก ยึดง่าย” (แก้หลักเกณฑ์การอบรม, เพิ่มการอบรมจาก ภาคทฤษฎีจาก 4 ชม. เป็น 5 ชม.ให้ผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 15 ชม. จากโรงเรียนสอนขับรถ) เพิกถอนใบอนุญาต
3.2 ให้กระทำได้ และให้สารวัตรขึ้นไปมีอำนาจชะลอการรับชำระภาษีประจำปี หาก เจ้าของไม่ไปชำระค่าปรับ กำหนดให้นายทะเบียนกรมขนส่งมีอำนาจสั่งพักใบอนุญาต
3.3 เพิ่มโทษผู้ไม่มีใบขับขี่ ทั้งผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาต และเจ้าของรถที่ยินยอมให้ผู้ไม่มีใบขับขี่ ขับรถ
4.รถโดยสารสาธารณะ แก้ไข 2 ข้อ
4.1 กำหนดมาตรฐานให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะต้องจัดทำรายงานข้อมูลความปลอดภัยในการขนส่ง การบำรุงรักษา เพื่อนำมาแสดงในการตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปี
4.2 ปรับปรุงระบบเยียวยา ให้ผู้ประกอบการทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม สำหรับเส้นทางระหว่างจังหวัด
5.คาดเข็มขัดนิรภัย แก้ไข 1 ข้อ คือ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
- 1 view