นสพ.โพสต์ทูเดย์ : ใกล้ถึงยกสุดท้ายเต็มทีสำหรับการงัดข้อกันระหว่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. โดยล่าสุด "หมอรัชตะ" ได้สัญญาณไฟเขียวให้ "ปลดปลัดณรงค์" ได้เต็มที่
ไฟเขียวที่ว่าไม่ใช่แค่จากทีมงานรัฐมนตรีที่อยู่รอบกายเท่านั้น หากแม้แต่ รมช.สธ. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ก็พยักหน้า รองนายกรัฐมนตรี ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ก็ส่งสัญญาณลุย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ส่งมอบดาบมายัง รมต.รัชตะ เต็มที่ว่าหากทำงานไม่ได้ก็ให้รัฐมนตรีตัดสินใจได้เลย
เป็นเรื่องราวลึกลับที่คนในกระทรวงหมอทั้งฝ่ายการเมืองและในฝ่ายข้าราชการประจำร่ำลือกันมาตลอดว่า "หมอณรงค์" มีแบ็กดีในศูนย์กลางอำนาจ คสช.
เป็นที่รู้กันดีในหมู่คนเสื้อสีขาว ว่า ก่อนหน้านี้ปลัดและรัฐมนตรีปะฉะดะกันมาหลายรอบ โดยปลัดณรงค์มีเป้าชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปการจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองใหม่ทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายสูงสุดให้เกลี่ยงบประมาณปีละ 1.2 แสนล้าน และให้ยกเลิกกองทุนย่อยหมวดต่างๆ เพื่อให้ลงเขตสุขภาพของ สธ.แทน
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปลายทางที่หวังจัดการเม็ดเงินเองไม่เป็นจริง ปลัดณรงค์จึงออกมายืนหัวแถวพุ่งเป้าวิพากษ์การทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หน่วยงานทำหน้าที่ดูแลกองทุนบัตรทองแทน ซึ่งก็ดูจะได้ผล เพราะข้าราชการจำนวนไม่น้อยอึดอัดกับระบบบัตรทอง เนื่องจากมีเกณฑ์การใช้จ่ายที่ยุ่งยาก ซับซ้อน จนมีการปลุกวลี "ทำงานแลกเงิน" จนฮิตติดตลาดมาตลอดหลายเดือน
ผลที่ตามมาหลังจากนั้น นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กองหนุนปลัดณรงค์ก็ได้ออกหนังสือห้ามเจ้าหน้าที่เข้าประชุมร่วมกับ สปสช. ถัดมาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ มีการงัดมาตรการงดส่งข้อมูลผู้ป่วยให้กับ สปสช. และหมัดสุดท้ายก็คือการลั่นวาจาว่าหน่วยบริการสังกัด สธ. จะไม่รับทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยบัตรทองอีก
แม้การฟาดฟันกันระหว่างสองหน่วยงานจะรุนแรงมากเพียงใด แต่ดูเหมือนหมอรัชตะซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทั้งสองหน่วยงาน ก็ยังเลือกแนวทางอดทนอดกลั้นและใจเย็นต่อการจัดการปัญหานี้เรื่อยมา แต่เลือกใช้วิธีการ "ตั้งคณะกรรมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย" ซึ่งเป็นปัญหาความ ขัดแย้งทอดยาวมานานกว่า 5 เดือน
มิหนำซ้ำการตั้งคณะกรรมการที่ลงนามโดยอำนาจรัฐมนตรี ยัง "ล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม"ซ้ำซากถึง 2 ครั้ง เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ที่มอบหมายให้ นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ. เป็นประธาน ถูกตัวแทนข้าราชการ สธ. 5 คน บอยคอตไม่เข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่าจะเป็นการซ้ำเติมโรงพยาบาลที่มีตัวเลขติดลบ
ขณะที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จ จริงระหว่างปลัด สธ.และ สปสช. ซึ่งมี ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ เป็นประธาน ก็ล่มซ้ำอีกครั้ง เพราะปลัด สธ.ทักท้วงเรื่องความเหมาะสมของ ศ.อัมมาร ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
เรื่องเก่ายังไม่จบเรื่องใหม่ก็เริ่มขึ้น เมื่อ ปลัด สธ.เดินเกมปลุกผีร่างกฎหมายตั้งคณะกรรมการอำนวยการสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งเคยพับไปเมื่อรัฐบาลชุดที่แล้วขึ้นมาอีก โดยมีจุดมุ่งหมายคุมองค์กรอิสระด้านสุขภาพ (ตระกูล ส.) ทั้งหมด ให้เข้ามาอยู่ใต้การตัดสินใจเดียวกัน
เลยเถิดไปถึงขั้นเสนอแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดช่องให้ สธ.ได้มีส่วนร่วมบริหารเศรษฐกิจจัดการบัตรทองมากขึ้น
ข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้ อ้างว่ามาจากการรับฟังตัวแทนข้าราชการ สธ.ทุกระดับ จนถูกส่งตรงไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยที่รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย
กรณีนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บีบ ให้รัฐมนตรีรัชตะต้องตัดสินใจอย่างใด อย่างหนึ่ง!
อย่างไรก็ตาม เย็นวันอังคารที่ 17 ก.พ. ผ่านมา ทีมวอร์รูม สธ.ประเมินสถานการณ์ว่า หากที่ประชุม ครม.วันที่ 18 ก.พ. ตัดสินใจเชือดปลัดณรงค์ อาจเกิดแรงกระเพื่อมจากข้าราชการ สธ. ซึ่งเป็นกองเชียร์ปลัดอยู่จำนวนไม่น้อยเคลื่อนไหวแสดงพลังต่อต้าน
หาก ครม.ตัดสินใจเชือด เป้าโจมตีจะพุ่งมาที่รัฐมนตรีรัชตะโดยตรงทันทีและความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ "หมอในกระทรวง" จะออกมาไล่รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง หรือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับออกจาก ครม. ซึ่งปัญหาจะถูกยกระดับเป็นคลื่นโถมใส่รัฐบาลและสร้างรอยเปื้อนให้ชีวิตการเมืองของหมอรัชตะไปเต็มๆ
ด้วยการประเมินสถานการณ์เช่นนี้ รมว.สธ. จึงเลี่ยงไปใช้ออปชั่นที่ซอฟต์ลง โดยเข็น "เอ็มโอยู" ออกมาอย่าศึก หวังจะให้เป็นตัวกลางดับไฟทั้งศึกเก่าและศึกใหม่ที่กำลังเริ่มต้น โดยมีหมอรัชตะนั่งหัวโต๊ะคุมเนื้อหาเอง และบีบให้เป็น "เงื่อนไขสุดท้าย"หากปลัดณรงค์ยังดื้อด้านไม่ทำตามเงื่อนไขการเขี่ยออกจากเก้าอี่ปลัดจะมีน้ำหนักและชอบธรรมมากขึ้น
แว่วว่าเนื้อหาในเอ็มโอยูฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นการ "ตามล้างตามเช็ด" ปัญหาเดิมที่ปลัด สธ.สร้างขึ้น ตั้งแต่การส่งหนังสือให้ สธ.ต้องร่วมงานกับ สปสช.อย่างไม่มีเงื่อนไข ไปจนถึงการบีบให้ปลัดณรงค์ต้องยอมรับคณะกรรมการทั้งสองชุดที่รัฐมนตรีตั้งขึ้น ไม่ว่าชุด นพ.ยุทธ และชุด ศ.อัมมาร
หากปลัดณรงค์เลือกยอมรับโดยดี เรื่องวุ่นๆ ก็จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่หากไม่ยอมอีกหมอรัชตะก็จะมีเหตุผลเต็มที่ในการลงดาบได้ทันที
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ลากไปถึงขั้นปลดปลัดได้สำเร็จ แน่นอนว่ารัฐมนตรีจะทำงานง่ายขึ้น แต่ก็ใช่ว่าการปกครองในกระทรวงจะราบรื่น เพราะรอยร้าวในกระทรวงนี้ซึมลึกไปทุกระดับ เกินกว่าจะจำกัดวงอยู่แค่ตัวปลัดณรงค์คนเดียว
ปลดหรือไม่ปลดปลัด...กระทรวงหมอยังต้องใช้ยารักษาตัวเองอีกหลายขนาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
- 3 views