กระทรวงสาธารณสุข ประชุมแพทย์ พยาบาลเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อพัฒนาความรู้การเฝ้าระวังและการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำในรอยต่อ 3 จังหวัดคือ พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก และเตรียมความพร้อมก่อนลงสำรวจพฤติกรรมความเสี่ยงสุขภาพเร่งด่วน ชาวบ้านรอบเหมือง 14 หมู่ประมาณ 6,000 คน วันที่ 20-27 ก.พ. และสำรวจชาวบ้านที่พบโลหะหนักในเลือดจำนวน 401 คน ในวันที่ 1-10 มี.ค.นี้ เพื่อคัดกรองหาสาเหตุผลเลือดผิดปกติที่แท้จริง จะรู้ผลตรวจกลางเดือนมีนาคม
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมพื้นที่รอบเหมืองทอง อ.ทับคล้อ จ.พิจิตรพร้อมด้วยผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 2 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เมื่อเที่ยงวันนี้(19 ก.พ. 58) ว่า ในวันนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และทีมมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อวางแผนแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทอง และพัฒนาความรู้การดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ 3 จังหวัดรอยต่อคือ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และชี้แจงเตรียมความพร้อม มาตรการตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนที่อาศัยรอบเหมืองทองคำ เพื่อคัดกรองสาเหตุความเสี่ยงการได้รับสารโลหะหนัก โดยจะมีการเก็บข้อมูลการเจ็บป่วย ซักประวัติ เช่นประวัติการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ โรงงานหลอมโลหะ โรงงานผลิตสี เป็นต้น ตรวจร่างกาย เก็บข้อมูลการบริโภคน้ำและอาหาร พฤติกรรมเสี่ยง สภาพแวดล้อมในบ้านเรือน ทัศนคติ และความเครียด เพื่อประเมินสุขภาพจิตตามแนวทางที่จะได้ข้อสรุปในวันนี้
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การสำรวจสุขภาพชาวบ้านรอบเหมืองทองครั้งนี้ ใช้ทีมประมาณ 6-7 ทีม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีผลการตรวจพบโลหะหนักคือสารหนูและแมงกานีสในเลือด จำนวน 401 คน กลุ่มนี้จะอยู่ติดเหมืองมี 3 หมู่บ้าน กำหนดลงพื้นที่ในวันที่ 1-10 มีนาคม 2558 ขณะเดียวกันจะทำการตรวจคัดกรองชาวบ้านทั่วไปที่อาศัยรอบเหมืองดังกล่าวในลักษณะเดียวกันอย่างเร่งด่วน ในวันที่ 20-27 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมี 14 หมู่บ้านใน 3 อำเภอได้แก่อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และอ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก รวม 6,000 กว่าคน หากรายใดมีพฤติกรรมเสี่ยงจะทำการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อหาการปนเปื้อนสารโลหะหนัก และวางแผนดูแลต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เบื้องต้นคาดว่าใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท จะทราบผลในกลางมีนาคม 2558 หลังจากนั้นจึงวางแผนระยะยาวในช่วง 3 เดือน 6 เดือนและ 1 ปี เพื่อเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอาหารบริโภคควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง จะให้การแก้ไขเป็นระบบ โดยเฉพาะการป้องกันอันตรายต่อประชาชน
ทั้งนี้ เหมืองแร่ทองคำเริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ.2544 จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นพบว่าในแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของสารหนูและแมงกานีสแน่นอน แต่ต้องหาสาเหตุว่ามาจากแหล่งใด จะได้ดำเนินมาตรการป้องกันที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนที่อาศัยโดยรอบ สำหรับโลหะหนักจะมีผลต่อสุขภาพทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง หากเป็นสารหนู พิษเฉียบพลันจะทำให้ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง พิษเรื้อรังทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี เป็นมะเร็งที่ผิวหนัง ปอด กระเพาะอาหารและตับ ส่วนแมงกานีส จะมีพิษเรื้อรัง มีผลต่อระบบประสาท เช่นมีอาการสั่นคล้ายโรคพาร์กินสัน โดยองค์การอนามัยโลกกำหนดพบค่าสารหนูในปัสสาวะปกติได้ไม่เกิน 50 กรัมต่อกรัมคริอะตินิน ส่วนแมงกานีส พบในเลือดไม่ได้เกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร
- 16 views