ปลัดสธ.ประชุมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพประชาชนที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร วางระบบการดูแลรักษาพยาบาล การเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพคน อาหาร และน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ฟันธงต้นเหตุปัญหา ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเกิดความเชื่อมั่น พร้อมทบทวนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 และตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญวิชาการจากส่วนกลาง ร่วมทำงานกับพื้นที่ 3 จังหวัด
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2558) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาสุขภาพจากผลกระทบการทำเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร ว่า ได้รับรายงานข้อมูลด้านผลกระทบสุขภาพ ซึ่งเป็นผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบว่าขณะนี้มีกลุ่มประชาชนที่อยู่รอบๆ เหมืองแร่แห่งนี้ ซึ่งตั้งในพื้นที่เชื่อมต่อ 3 จังหวัดคือพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก จัดว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากพบมีสารโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะ คือ แมงกานีส สารหนู สูงผิดปกติ จำนวน 401 คน จากผลการตรวจทั้งหมด 700 กว่าคน มากที่สุดที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จำนวน 196 คน เป็นผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านที่อยู่รอบเหมือง ซึ่งมีพื้นที่เหมืองขนาดประมาณ 3000 กว่าไร่ จากการประเมินพบว่ามีประชาชนอาศัยอยู่รอบๆ เหมืองอีกประมาณ 6,000 คน ซึ่งมีโอกาสอาจจะได้รับผลกระทบจากสารโลหะหนักได้ ทั้งทางตรงและผ่านทางสิ่งแวดล้อมคือปนเปื้อนในแหล่งน้ำ อาหาร ได้
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในการจัดระบบการดูแลประชาชนรอบเหมืองทองคำ ได้วางไว้ 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน เน้นหนัก 2 เรื่อง คือการรักษาประชาชน ได้จัดคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่อาจเกิดมาจากการสัมผัสโลหะหนัก ที่โรงพยาบาลทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด โดยจัดผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรคและผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี มาให้การดูแลเป็นการเฉพาะ และมีศูนย์รับส่งต่อที่โรงพยาบาลพิจิตร ส่วนเรื่องที่ 2 คือการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพ เพื่อหาสาเหตุที่จริงของการมีโลหะหนักในเลือด โดยจะทำการตรวจคัดกรองสุขภาพ เริ่มจากกลุ่มประชาชนกลุ่ม 401 คน ที่พบผลเลือดผิดปกติก่อน จะมีการซักประวัติ เจาะเลือด พฤติกรรมประจำวัน ซึ่งจะมีการประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้ง 3 จังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมการทำงานพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ที่ จ.พิจิตร จากนั้นจะวิเคราะห์ผล คาดว่าจะเสร็จกลางเดือนมีนาคม 2558 จากนั้นจะดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มประชาชนที่เหลืออีก 6,000 คน ด้วย
ส่วนในระยะยาวได้วางระบบการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือแหล่งน้ำกินน้ำใช้ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรรอบเหมืองแร่ ทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ในเบื้องต้นวางกรอบเวลา 3 ปี โดยจะจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม 1 ชุด เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ร่วมกันทั้ง 3 จังหวัด ขณะนี้ได้วางกรอบการทำงานไว้แล้ว ทั้งนี้ในการทำงานครั้งนี้จะทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ด้วย เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และร่วมแก้ไขปัญหาด้วยกัน
- 12 views