กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รณรงค์ติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติหรือเครื่องเออีดี ในสถานที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินทั้งในเมือง ชนบท หรือบนเกาะ ตั้งเป้าภายใน 3 ปีนี้ให้ได้ 3,000 แห่ง โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฝึกอบรมความรู้และทักษะการปั้มหัวใจผู้ที่หัวใจหยุดเต้นและการใช้เครื่องเออีดีแก่ประชาชนทุกอาชีพ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วยสูงขึ้น
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2558) ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง กทม. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) เปิดงานมหกรรมรณรงค์เตรียมความพร้อมการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ Automated External Defibrillator (AED) ให้สถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉุกเฉิน ติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติหรือที่เรียกว่าเครือเออีดี (AED) จัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยชีวิตประชาชนที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ให้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ภายในงานมีการจัดเสวนาเรื่อง “เออีดี เชื่อมห่วงโซ่การรอดชีวิต” จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และจากประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งจัดทีมสาธิตวิธีการใช้งานเครื่องเออีดี ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้รับชมด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการหมดสติจากหัวใจหยุดเต้น จัดเป็นภาวะฉุกเฉินเกิดได้ทั้งที่บ้านและที่สาธารณะ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทย ปีละประมาณ 54,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 ราย รองจากโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ กว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การจัดงานครั้งนี้ต้องการรณรงค์ให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะฉุกเฉินเช่นสถานีขนส่งต่างๆ โรงแรม สนามกีฬา แหล่งท่องเที่ยวเป็นต้น ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการติดตั้งเครื่องเออีดี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นอย่างกะทันหัน ให้รอดชีวิตมากขึ้น
ในระยะเริ่มต้นนี้ตั้งเป้าหมายรณรงค์ติดตั้งให้ได้ 3,000 แห่ง ภายใน 3 ปีทั้งในเขตเมืองและชนบท พื้นที่เกาะต่างๆ และได้มอบหมายให้สพฉ.ฝึกอบรมการปฐมพยาบาล ฝึกการปั้มหัวใจ ช่วยฟื้นคืนชีพให้แก่ประชาชนทั่วไปทุกอาชีพ เพื่อให้มีความรู้และมีทักษะการช่วยชีวิตเบื้องต้น ระหว่างที่รอรับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทางหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้มากถึงร้อยละ 45 ถือเป็นการยกมาตรฐานการกู้ชีพของไทยให้สูงขึ้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ สพฉ.ได้มอบเครื่องเออีดี จำนวน 29 เครื่อง ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชิน โสภณพนิช, บริษัทฟิลิปส์ ประเทศไทยจำกัดมหาชน และบริษัท เซ็นต์ เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด กระจายติดตั้งในพื้นที่สาธารณะต่างๆที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิตและเอกมัย ท่าเรือคลองเตย สนามกีฬาศุภชลาศัย สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก)ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภาฯลฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่สนใจจะติดตั้งเครื่องชนิดนี้เอง อาทิ สนามมวยลุมพินี บริษัทเอสโซ่ ชมรมจักรยาน เป็นต้น
นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า เครื่องเออีดีเป็นอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์พกพา ใช้กระตุ้นหัวใจที่หยุดเต้น ให้กลับมาเต้นตามปกติ มีขั้นตอนการใช้ไม่ยุ่งยาก ประชาชนสามารถใช้เครื่องนี้ได้ภายใต้คำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ขณะนี้ต่างประเทศใช้เครื่องนี้อย่างแพร่หลาย อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มีผลวิจัยว่าสามารถช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 45
สำหรับสถานที่ที่จะติดตั้งเครื่องเออีดี ควรตั้งอยู่ในที่ที่สามารถนำมาช่วยฟื้นคืนชีพได้ภายใน 5 นาที เช่น อยู่ใกล้กับลิฟท์ หรือบันไดในอาคารสูง ง่ายต่อการค้นหา ติดป้ายให้เห็นอย่างเด่นชัดและดึงออกมาใช้งานได้สะดวกภายในเวลา 1 นาที ควรจัดทำแผนผังของอาคารที่เข้าใจง่าย มีป้ายชี้ทางบอกให้เห็นบริเวณที่มีการติดตั้งเครื่องเออีดี และมีผู้ดูแลรักษาเครื่องตรวจสภาพเครื่องให้พร้อมใช้งานสม่ำเสมอ และมีการฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพพร้อมกับการใช้เครื่องเออีดีแก่พนักงานประจำพื้นที่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรืออาสาสมัครที่อยู่ประจำบริเวณดังกล่าวด้วยประการสำคัญขอให้สถานที่ที่ตั้งเครื่องเออีดีแล้ว แจ้งลงทะเบียนที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำจังหวัดทางหมายเลข 1669 หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถใช้เครื่องนี้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ประชาชนทั่วไป หากพบผู้ป่วยฉุกเฉิน หมดสติ มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ในเบื้องต้นให้ตั้งสติและรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 และดำเนินการปั๊มหัวใจ หากมีคำแนะนำให้ใช้เครื่องเออีดีช่วยชีวิต ให้ผู้ช่วยเหลือฉีกซองบรรจุอิเล็คโทรดซึ่งมีอยู่ 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งติดไว้ที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชิ้นหนึ่งติดไว้ที่ใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัวของผู้ป่วย จากนั้นเครื่องฯจะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ เมื่อเครื่องวินิจฉัยเสร็จแล้วจะมีคำสั่งด้วยภาษาไทยให้ดำเนินการต่อไป จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง โดยการช่วยเหลือควรทำภายใน 3-5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น
- 10 views