เกษร วงศ์มณี หรือ หมอหน้อย เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ผลักดัน โครงการ 2 บาทลงขันสร้างสรรค์โรงพยาบาลตำบลในพื้นที่อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ จนกลายเป็นชื่อเรียกที่คุ้นเคยกันว่า รพ. 2 บาท ซึ่งเป็นการทำงานส่งเสริมสุขภาพระดับปฐมภูมิในชุมชนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก กวาดรางวัลมาหลากหลาย และล่าสุด ก็ได้รับรางวัลระดับนานาชาติจาก โครงการ Asia Pacific Alliance on Human Resources for Health (AAAH) ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านกำลังคนสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก และนับเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รางวัลนี้
เกษร วงศ์มณี
จากจุดเริ่มต้นการหน้าที่เป็นพยาบาลอยู่ใน รพ.ชุมชน 19 ปี ทำให้ เกษร วงศ์มณี หรือ หมอหน้อย (ตำแหน่งปัจจุบันสาธารณสุขอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์) มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ความยากลำบากของคนไข้ในชนบทในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ทั้งการเดินทางที่ไม่สะดวก การพัฒนาสถานีอนามัยเพื่อรองรับการดูแลชาวบ้านในชนบทเป็นไปได้ช้า เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด ประกอบกับความประทับใจในวัยเยาว์ที่ได้ซึมซับความเสียสละของเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ในสมัยก่อน ที่ต้องบริจาคที่ดินในกับทางราชการไม่ต่ำกว่า 2 งานขึ้นไป เพื่อแลกกับโอกาสในการไปเรียนผดุงครรภ์หลักสูตรหนึ่งปีหกเดือน แล้วกลับมาทำงานในบ้านเกิด
“การที่เราได้เห็นคนที่ต้องเสียสละ เพื่อได้ไปเรียน แล้วยังเรียนน้อยแต่ต้องดูแลคนจำนวนมากในแต่ละตำบลทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ คิดว่าถ้าวันหนึ่งเราได้มีโอกาสเรียนสูงๆ เราจะทำงานให้ดีแบบพี่ๆ ผดุงครรภ์ แล้วเมื่อมาทำงานทำให้เกิดความคิดว่า ผู้ที่จะทำให้เกิดการเปลื่ยนแปลงระบบการดูแลสุขภาพในระดับพื้นที่ได้ คือ สาธารณสุขอำเภอ ทำให้มีความปราถนาที่จะเป็นสาธารณสุขอำเภอ และได้วางแผนที่จะมาเป็นสาธารณสุขอำเภอ”
ในเวลานั้น สาธารณสุขอำเภอจะไม่มีสายวิชาชีพพยาบาลเลย นั่นเพราะการเป็นพยาบาลนั้นมีศักดิ์ศรีที่ดีอยู่แล้ว ทั้งยังไม่ต้องมาทุกข์ยากลำบากในตำบล พยาบาลส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ใน รพ.ชุมชน ขณะที่เกษรกลับคิดว่า ในเมื่อตนเองเป็นพยาบาลวิชาชีพ และทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมานานถึง 19 ปี หากจะก้าวไปสู่ตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะนอกจากแรงใจที่อยากจะทำงานแล้ว ควรจะต้องมีการเตรียมความรู้ในเรื่องการบริหารการจัดการ ทั้งคน เงิน ของ และที่สำคัญคือ ความรู้ด้านสังคมวิทยา เพราะจะทำให้สามารถเข้าใจชุมชนได้
เกษรจึงได้ขออนุญาต นพ.พงศ์พิชญ์ วงศ์มณี สามี และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหล่มสักว่า มีความต้องการที่จะทำงานเพื่อตอบแทนคุณบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ได้รับทุนการศึกษาเข้าเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2524 และน่าจะถึงเวลาที่จะได้ทำตามความต้องการนั้นแล้ว ซึ่งคุณหมอพงศ์พิชญ์มิได้ขัดข้อง
การเตรียมพร้อมเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอของเกษรนั้น เริ่มด้วยการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยครั้งแรกได้ไปเรียนหลักสูตรของนิด้า ภาคพิเศษ เสาร์-อาทิตย์ ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อเรียนไปได้หนึ่งปี เกษรคิดว่า ควรจะได้ศึกษาเรื่องอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย จึงได้ทำเรื่องขอลาศึกษาต่อ 2 ปี เพื่อไปเรียนในหลักสูตรสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งย้ายการเรียนในหลักสูตรนิด้าจาก จ.พิษณุโลกไปเรียนต่อที่ กทม. หลังจากจบการศึกษาปริญญาโททั้ง 2 สถาบัน เกษรต้องทำการสอบแข่งขันเพื่อที่จะเป็นสาธารณสุขอำเภอหล่มสักแทนตำแหน่งที่ว่างลง ด้วยความสามารถของคุณเกษรทำให้ได้เป็นสาธารณสุขอำเภอหล่มสักสมความตั้งใจ
การเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอของเกษรในปี 2544 เกิดขึ้นในช่วงเดียวที่ไทยกำลังเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีต่อมา ซึ่งได้มีการเปลี่ยนวิธีการกระจายเงินงบประมาณลงพื้นที่ตามรายหัวประชากร ซึ่งในปีแรกจากเงินรายหัว 1,208 บาท เป็นงบที่จะมาถึงพื้นที่ในลักษณะของงบสร้างเสริมสุขภาพ 30-35 บาท แต่จริงๆ แล้วงบมาถึงพื้นที่เป็นเงิน 24 บาท ทำให้คุณเกษรและคุณหมอพงศ์พิชญ์ต้องวางแผนทำงานร่วมกัน เพราะหากรองบประมาณเพียงอย่างเดียว งานพัฒนาที่ตั้งใจจะทำคงไม่สำเร็จ เนื่องจาก อ.หล่มสักมีสถานีอนามัย 31 แห่ง คุณหมอพงศ์พิชญ์ได้ทำการคำนวณเงินที่จะใช้ในการพัฒนาสถานีอนามัย 1 แห่ง โดยใช้ผู้มีส่วนร่วม 3 กลุ่ม ได้แก่ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนมาหารจำนวนเงินที่จะใช้พัฒนาโครงสร้างสถานีอนามัย 700,000 บาท แล้วหารด้วยจำนวน 10,000 คน ซึ่งมาจากตัวเลขที่ สปสช.กำหนดจำนวนผู้ป่วยที่สถานีอนามัยจะทำการดูแลได้ดี และหารด้วยจำนวน 12 เดือน ตัวเลขที่ได้คือ 2 บาท ซึ่งทั้ง นพ.พงศ์พิชญ์และเกษร เห็นว่า เงินจำนวน 2 บาทนี้ หากสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านน่าจะได้รับการสนับสนุน จึงได้ใช้เวทีประชาคม สร้างความตระหนักให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และสร้างการมีส่วนร่วม โดยเริ่มทดลองพัฒนาสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลตำบล ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ บ้านกลาง งิ้วงาม วังมน ดงน้อย และช้างตะลูด
ในระยะแรก เริ่มด้วยการพัฒนาโครงสร้างภายใน เช่น ห้องตรวจภายใน โดยมี รพ.หล่มสักให้ยืมตัวพยาบาลวิชาชีพมาอยู่ประจำ และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์มาสนับสนุน ก่อนที่พยาบาลทั้ง 5 คน จะมาอยู่ประจำโรงพยาบาลตำบลนั้น เกษรได้มีการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับพยาบาล ด้วยการเชิญแพทย์ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการ “2 บาทลงขันสร้างสรรค์โรงพยาบาลตำบล”
โครงการ “2 บาทลงขันสร้างสรรค์โรงพยาบาลตำบล” มีแผนการดำเนินการเป็นระยะละ 5 ปี กำหนดไว้ว่า 5 ปีแรก คือ การพัฒนาโครงสร้างของสถานีอนามัย โดยจะให้ครอบคลุมทั้งอำเภอในเวลา 5 ปี โดยมีวิสัยทัศน์ว่า เราจะบริหารเครือข่ายโดยใช้หลักธรรมาภิบาล โดยในช่วง 3 ปีแรก จะเป็นการสร้างศรัทธาและความไว้วางใจ แสดงให้ชาวบ้านเห็นว่า สิ่งที่ทำดีกว่าเดิมอย่างไร
เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ของการพัฒนา สามารถขยายพื้นที่ได้ 14 แห่ง และในปี 2547 สามารถขยายได้ 28 แห่ง จนครบ 31 แห่ง ในปี 2548 ซึ่งสำเร็จก่อนที่วางแผนไว้
ในระยะที่สองของการพัฒนาซึ่งกำหนดไว้ 5 ปี เช่นกัน คือ การสร้างคุณภาพบริการและการสร้างเสริมสุขภาพ เกษรกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า เราจะเป็นโรงพยาบาลตำบลต้นแบบของประเทศไทย
ในปัจจุบันเป็นการเข้าสู่ระยะที่สาม วิสัยทัศน์ คือ สามารถที่จะเป็นแหล่งฝึกอบรมให้กับทุกสาขาที่อยู่ในบริการปฐมภูมิ และจะเป็นบริการปฐมภูมิที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก เป้าหมายคือ การเป็นแหล่งฝึกให้กับสถาบันต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับบริการปฐมภูมิ เช่น ทันตาภิบาล นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์แผนไทย
ในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ อ.หล่มสัก ทั้งเกษรและ นพ.พงศ์พิชญ์ ต่างทำงานคู่ขนาดกันไป โดยเกษรจะดูแลในเรื่องบริการปฐมภูมิ ส่วน นพ.พงศ์พิชญ์จะทำระบบทุติยภูมิรองรับ ผู้ป่วยจะไปรับการรักษาที่ รพ.หล่มสักได้ต้องได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลตำบลเท่านั้น
ในปี 2546 เกษรได้นำเทคโนโลยี Skype มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำบลสามารถปรึกษาแพทย์ที่อยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอได้ผ่าน Skype ซึ่ง ทศท.เข้ามาติดตั้งระบบให้กับโรงพยาบาลตำบลและแม่ข่าย 32 แห่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ในการบริหารจัดการนั้น เกษรได้แบ่งขนาด รพ.ตำบลออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ SS, S, M, L และ LL ตามจำนวนประชากร และจัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตามระดับของ รพ. เช่น ระดับ SS มีอัตรากำลัง 3 คน ระดับ S มีอัตรากำลัง 4 คน เป็นต้น
ขณะที่เงิน 2 บาทที่ประชาชนช่วยลงขันกันในแต่ละตำบลนั้น ได้แบ่งส่วนหนึ่งมาใช้สมทบทุนการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่ไปเรียนหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพ ที่ จ.พิษณุโลก และนครสวรรค์ ได้ถึง 30 คน และทันตาภิบาล 7 คน และสาธารณสุขศาสตร์ 1 คน ตามข้อตกลงของแต่ละตำบล ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาก็จะกลับมาทำงานให้กับบ้านเกิด การส่งเด็กไปเรียนนั้นในช่วงแรก ต้องขอความช่วยเหลือจาก อบต.ในการจ้างเด็กนักเรียนทุนเหล่านี้เป็นเวลา 4 ปี หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ดึงเด็กกลุ่มนี้บบรรจุเข้าสู่ระบบเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลืออยู่ 10 คนที่ยังรอบรรจุอยู่
จากชีวิตการทำงานที่ทุ่มเทให้ประชาชนมากว่า 30 ปีของ เกษร วงศ์มณี ล่าสุด ได้รับเลือกจากคณะกรรมการองค์การโครงการ Asia Pacific Alliance on Human Resources for Health (AAAH) ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านกำลังคนสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและสร้างความแข็งแกร่งด้านกำลังคนสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยได้รับความสนับสนุนจากหลายองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติประเทศจีน ให้ได้รับรางวัลกำลังคนสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ประเภทบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ (Non-MD) จากการประกวดผลงานของบุคลากรด้านสุขภาพจากตัวแทน 16 ประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการสนับสนุนชื่นชมต่อการอุทิศตนต่องาน และเป็นกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข ในการประชุม Asia Pacific Alliance on Human Resource for Health ครั้งที่ 8 ที่เมืองเว่ยไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
- 82 views