"เสร็จเคสนี้กลับเลยนะพี่ ค่อยๆ ไปก็ได้" เสียงอรทัย แร่นาค พยาบาลโรงพยาบาลวังโป่งบอกกับพนักงานขับรถส่งต่อผู้ป่วย (รถรีเฟอร์) ที่กำลังขับรถออกจากโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ มุ่งหน้ากลับโรงพยาบาลวังโป่ง ซึ่งเป็นต้นสังกัดของเธอ และอยู่ห่างออกไปอีกกว่า 100 กิโลเมตร ขณะที่รถพยาบาลเพิ่งวิ่งห่างออกจากโรงพยาบาลเพียง 1 กิโลเมตรและเตรียมยูเทิร์นเพื่อกลับไปยังเส้นทางเดิม วินาทีที่รถรีเฟอร์กำลังออกตัว ได้มีรถกระบะสีขาวคันหนึ่งพุ่งมาด้วยความเร็วสูง และชนเข้ากับประตูบานสไลด์กลางคันของรถพยาบาลเข้าเต็มแรงจนรถพยาบาลกระเด็นไปหลายเมตร เมื่อตั้งสติได้อรทัยและเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนที่อยู่บนรถรีบลงมาดูว่ามีใครได้รับบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งฝั่งของอรทัยและเพื่อนไม่มีใครเป็นอะไรมาก มีเพียงรอยฟกช้ำและศรีษะถลอก หากแต่ฝั่งคู่กรณีบาดเจ็บสะโพกหลุด อรทัยจึงรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 มารับคนเจ็บส่งโรงพยาบาลต่อเพื่อทำการรักษาทันที
อรทัย แร่นาค
"หลังจากเหตุการณ์เราเสียขวัญเลยนะ ยังไม่กล้านั่งรถไปส่งคนไข้เท่าไหร่ แต่ก็ต้องไปเพราะเป็นเวรส่งต่อผู้ป่วย ได้แต่บอกคนขับว่าพี่ไปช้าๆ นะ และเราจะไม่ไปยูเทิร์นตรงนั้นอีกแล้ว เรารู้สึกว่าเราโชคดีมากนะที่อุบัติเหตุครั้งนั้น เราและเพื่อนไม่ได้เป็นอะไรมาก เพราะที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น พยาบาลรุ่นพี่บางคนของเราถึงขึ้นพิการและเสียชีวิตเลยก็มี จริงๆ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเยียวยา เรื่อค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประกันต่างๆ กรณีเกิดอุบัติเหตุบ้าง เพราะบางทีเราก็ระวังแล้ว แต่คนอื่นไม่ระวังขับรถมาชนหรือเกิดอุบัติเหต ซึ่งมันจะกลายเป็นเหตุสุดวิสัย และจะกลายเป็นว่าเราเป็นคนไปช่วยผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ แต่ถ้าเราเป็นเองบ้างกลับจะไม่มีการช่วยเหลือเราเลย ทั้งที่เป็นงานในความรับผิดชอบของเรา ซึ่งเรามีแค่ค่าเวรครั้งละ 600 บาทเท่านั้น "อรทัยบอกเล่าความรู้สึกหลังจากประสบอุบัติเหตุพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แม้เธอจะไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรมากมาย แต่ภาครัฐควรที่จะมีมาตรการหรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ กรณีบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้รับบาดเจ็บจากการส่งต่อผู้ป่วยด้วย
พัชรี อุดมมา
นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ พัชรี อุดมมา อดีตพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาลบาลแม่สอด จังหวัดตาก ที่ประสบอุบัติในการปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วย จนกระดูกต้นคอหักทับเส้นประสาท จนทำให้กลายเป็นอัมพาต ทุกวันนี้พัชรีต้องนั่งรถเข็นเป็นหลัก และมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ความหวังซึ่งก็คือลูกสาว และผู้เป็นพ่อซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว
"พ่อจะอยู่ยังไง ลูกจะอยู่ยังไง ทุกอย่างมันเข้ามาจนเราตั้งตัวไม่ทัน ความเจ็บป่วยของตัวเองเวลานั้นมันสุดๆ มันบอกไม่ถูกไม่รู้จะพูดยังไง เราจะเป็นอะไรไม่ได้ เพราะเราเป็นเสาหลักของครอบครัว เสียดายเวลา เสียดายโอกาส ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว เราไม่อยากให้เพื่อนวิชาชีพเดียวกันต้องมาเป็นแบบเรา อยากให้รัฐเขียนเป็นนโยบายให้ชัดเจนเลยว่า กรณีมีอุบัติเหตุอย่างเรา การช่วยเหลือจริงๆ จะมีอะไรบ้าง อายุงานกี่ปีได้สิทธิ์เท่าไหร่ อะไรบ้าง จะดูแลกันอย่างไร อยากให้มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจนไปเลย" อดีตพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาลบาลแม่สอด บอกเล่าความรู้สึกของตนเอง และให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐน่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการออกระเบียบหรือมีหลักประกันสำหรับข้าราชการหรือบุคลากรทางการแพทย์ หรืออาจจะต้องกำหนดว่าควรมีคนขับรถ 2 คน กรณีที่เป็นยามวิกาลหรือระยะทางที่ไกลมาก และหากเกิดอุบัติเหตุควรมีการชดเชยรายได้ด้วย
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพยาบาลวิชาชีพทั้งสองคนนี้นั้นได้ถูกรวบรวมถ่ายทอดและบอกเล่าผ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค "เสียงเพรียกจากนางฟ้า" ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ผ่านวิธีการรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์พยาบาล พนักงานขับรถ ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถพยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อหวังที่จะสะท้อนแนวโน้มของปัญหา ความไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของผู้ปฏิบัติงานในรถพยาบาล
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา สถิติการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินมีมากถึง 61 ครั้งมีคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 130 ราย และเสียชีวิตอีก 19 ราย และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินถึง 28 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บ 54 คนซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมาก
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบส่งต่อผู้ป่วย เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งทุกๆ คนทุ่มเททำงานด้วยความเสียสละและเสี่ยงภัย ความปลอดภัยของบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจึงถือเป็นนโยบายที่สำคัญของ สพฉ.
หนังสือเสียงเพรียกจากนางฟ้านั้นจะทำให้ผู้ที่ได้อ่านเห็นความจริงและทราบถึงสภาพปัญหาที่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนต้องพบเจอ ซึ่งเราหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างประโยชน์ในการตระหนักในเรื่องความปลอดภัยเชิงป้องกันอุบัติเหตุรถพยาบาลเพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในรถพยาบาลต่อไปด้วย
ทั้งนี้ในเรื่องของมาตรการในการดูแลเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ.และทีมสหวิชาชีพได้ยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ในการจัดประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่าน โดยเราได้เรียกร้องให้มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของรถการแพทย์ฉุกเฉิน และการประกันภัยเป็นนโยบายเร่งด่วน
สำหรับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ล่าสุดมีหลายโรงพยาบาลเริ่มดำเนินการในการจัดทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสังกัดของตนเองแล้ว อาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย และโรงพยาบาลกระบี่
เช่นเดียวกับจังหวัดเพชรบูรณ์ นางเกษร วงศ์มณี สาธารณสุขอำเภอหล่มสักกล่าวว่า เริ่มโครงการทำประกันภัยชั้น 1 ให้รถพยาบาลมาหลายคันแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เราต้องดูแลบุคลากรของเรา โดยเฉพาะเพชรบูรณ์สภาพพื้นที่เป็นภูเขา จึงยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้จะรณรงค์ให้หลายๆ พื้นที่ใกล้เคียงเร่งทำประกันภัยด้วย ซึ่งจะคุ้มครองทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ หรือช่วยเหลือกรณีมีคดีความฟ้องร้องด้วยโดยรถราชการสามารถจัดทำประกันภัยและเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายได้จากงบประมาณราชการได้ ทั้งในส่วนของการประกันภัยภาคบังคับ และภาคสมัครใจ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินลดน้อยลงได้ เพียงแค่เรามีจิตสำนึกร่วมในการหลีกทาง และชะลอความเร็วของรถเราลงเมื่อเห็นรถพยาบาลฉุกเฉินผ่านทาง หรือขอทาง ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการทำความดีเล็กๆ แต่ได้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ ทั้งตัวเราเอง ทั้งจากผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและ บุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย หลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ความดีง่ายๆ ที่เราก็สามารถทำได้
- 73 views