สปสช.หนุนพัฒนาหน่วยบริการให้เคมีบำบัด เผย 4 ปี มีหน่วยบริการร่วมเป็นเครือข่ายให้เคมีบำบัด 690 แห่ง ขณะที่ปี 58 บอร์ดสปสช.มีมติปรับหลักเกณฑ์การบริหารกรณีผู้ป่วยมะเร็ง ย้ายค่ายาเคมีบำบัดไปรวมไว้ที่รายการย่อยบริการกรณีเฉพาะ บริหารจ่ายรวมกับค่าเคมีบำบัด การฉายรังสี และการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในทั่วไปกรณีผู้ป่วยมะเร็งที่มีการรักษาด้วยเคมีบำบัด โดยจะกันงบ 31.33 บาทต่อคนเพื่อดำเนินการนี้ ชี้เพื่อลดปัญหาภาระเบิกจ่ายหน่วยบริการ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษา
21 ม.ค.58 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในลำดับต้นๆ ของคนไทย เนื่องจากมีแนวโน้มของอัตราป่วยและเสียชีวิตในระดับประชากรที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสูญเสีย โดยมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญของคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ที่ผ่านมาผู้ป่วยมะเร็งต่างมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเสียชีวิตโดยเร็ว และจากอุปสรรคข้างต้นนี้ ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช.จึงได้อนุมัติสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายิ่งขึ้น ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และการให้เคมีบำบัด ที่เป็นการช่วยยืดอายุผู้ป่วย
นพ.รัชตะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจึงมีผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานในการหยุดยั้งหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 27.14 ในปี 2548 เป็น 36.94 ในปี 2555 สอดคล้องกับการรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่พบก้อนเนื้อร้ายและผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกเริ่ม มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 148.94 ต่อแสนประชากรในปี 2548 เป็น 205.72 ต่อแสนประชาชนในปี 2556
ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงการรักษาจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของการบริการรักษา ทั้งหน่วยบริการและบุคลากรทางการแพทย์ที่มัศักยภาพในการดูแล ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้มีการสนับสนุนพัฒนาเครือข่ายบริการที่เป็นการต่อยอดการสนับสนุนพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิ เพื่อเชื่อมโยงหน่วยบริการทั่วไปเพื่อให้ใกล้บ้านผู้ป่วยมากที่สุด โดยในปี 2553 ได้เริ่มพัฒนาเครือข่ายโรคมะเร็งที่ให้ครอบคลุมการดูแลแบบประคับประคองระยะสุดท้ายด้วย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการโรคมะเร็งในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการที่เข้าร่วมเครือข่ายบริการเคมีบำบัดทั้งสิ้น 690 แห่ง ในจำนวนนี่เป็นบริการแม่ข่าย 25 แห่ง และหน่วยบริการลูกข่าย 665 แห่ง
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ด้วยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการให้เคมีบำบัดมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นภาระต่อหน่วยบริการอย่างมาก โดยเฉพาะในหน่วยบริการที่มีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาจำนวนมาก ดังนั้นในปีงบประมาณ 2558 นี้ บอร์ด สปสช.จึงอนุมัติให้มีการปรับหลักเกณฑ์การบริหารกรณีผู้ป่วยมะเร็ง โดยจะย้ายค่ายาเคมีบำบัดไปรวมไว้ที่รายการย่อยบริการกรณีเฉพาะ โดยจะมีการบริหารการจ่ายรวมกับค่าเคมีบำบัด การฉายรังสี และการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในทั่วไปกรณีผู้ป่วยมะเร็งที่มีการรักษาด้วยเคมีบำบัด โดยจะมีการกันงบ 31.33 บาทต่อคนเพื่อดำเนินการนี้
“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีความยุ่งยากในการเบิกจ่าย ด้วยเหตุนี้ บอร์ด สปสช.จึงเห็นควรให้มีการปรับการจัดสรรงบกรณีการให้ยาเคมีบำบัดมาไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งนอกจากลดภาระการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 13 views