กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่หนุนให้เด็กดื่มนมโคสดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เน้นรสจืด หวังลดพฤติกรรมติดหวาน ทั้งยังมีแคลเซียมที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการส่งเสริมให้เด็กไทยดื่มนมจืด เพื่อช่วยสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทุกวัย เพราะใน นมมีโปรตีนคุณภาพดีและมีแคลเซียมในปริมาณสูงเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะนมโคสด 100 เปอร์เซ็นต์ ไขมันต่ำ รสจืดมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กด้านความสูง โดยมีผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการดื่มนม วันละประมาณ 2 แก้ว ร่วมกับการออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้ นอกจากนี้จากข้อมูลการศึกษาของสำนักโภชนาการโดยนำเอานมโคสดแท้ นมปรุงแต่งรสหวาน นมเปรี้ยว ปริมาณ 100 มิลลิลิตรเท่ากันมาเปรียบเทียบคุณค่าสารอาหาร พบว่า นมโคสดแท้จะให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ แคลเซียม 135 มิลลิกรัม โปรตีน 3.3 กรัม วิตามินเอ 71 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม ในขณะที่นมปรุงแต่ง รสหวานกลับให้สารที่จำเป็นน้อยกว่าคือ แคลเซียม 102 มิลลิกรัม โปรตีน 2.3 กรัม วิตามินเอ 38 มิลลิกรัม และวิตามินอี 0.16 มิลลิกรัม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้เด็กดื่มนมจืด เป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดพฤติกรรมติดหวาน ลดเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน สร้างความแข็งแรงให้กับฟันและช่วยป้องกันฟันผุ เพราะมีผลการศึกษาวิจัยยืนยันว่า นมธรรมชาติเป็นอาหารที่ส่งเสริมความแข็งแรงของฟัน แต่หากมีการเติมน้ำตาลเพิ่มลงไปในนม จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคฟันผุทันที และหากแปรงฟันไม่สะอาด ก็จะยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุขึ้นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะเด็กในชนบท ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผลการสำรวจทันตสุขภาพแห่งชาติของสำนักทันตสาธารณสุขเมื่อปี 2555 พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี มีการดื่มนมจืดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.33 เป็นร้อยละ 44.2 โดยเด็กในภาคกลางจะมีการดื่มนมจืด น้อยที่สุดคือร้อยละ 31.7
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย และธงโภชนาการแนะนำไว้ก็คือ ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย วัยเด็กยังต้องการความเจริญเติบโต มีความต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เด็กก่อนวัยเรียนให้ดื่มนมชนิดธรรมดาวันละ 2-3 แก้ว วัยเรียนดื่มวันละ 2 แก้ว ส่วนวัยผู้ใหญ่ต้องการสารอาหารเพิ่มการซ่อมแซมส่วนที่ สึกหรอ แนะนำให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกินดื่มวันละ 1 แก้ว ส่วนหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรวันละ 2 แก้ว ดังนั้น วิธีการ ที่ดีที่สุดคือแนะนำให้ดื่มนมหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 แก้ว สำหรับผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องอืด ท้องเสีย ซึ่งมักเกิดในผู้ที่กินนมไม่ต่อเนื่องหรือไม่ได้ดื่มเป็นประจำตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคนเอเชียส่วนใหญ่จะมีน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งอยู่ในนมลดลงมากเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป จึงไม่เพียงพอที่จะไปย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม มีวิธีแก้ไขให้เริ่มด้วยการดื่มนมในปริมาณน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ ควรดื่มนมหลังอาหาร หรือไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง”
"ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เด็กดื่มนมจืดเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นภาระงานของกรมอนามัย ที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมทั้งพฤติกรรมลดหวานในกลุ่มเด็กวัยเรียน ควบคู่กับการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกวิธี อันจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาในระยะยาว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 128 views