“นพ.อำนาจ” หวั่นเสนอร่างกม.คุ้มครองผู้เสียหายอาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในระบบสุขภาพ แนะชะลอและเปิดรับฟังความเห็นก่อน โดยให้ยึดตามข้อเสนอแพทยสภา 8 พ.ค.57 ที่ยืนยันไม่เห็นด้วยกับ ร่างกม.คุ้มครองผู้เสียหาย เสนอทางออกโดยเห็นชอบแก้ไข ม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ขยายคุ้มครองทั้ง 3 ระบบแทน

นพ.อำนาจ กุสลานันท์

12 ม.ค.58 นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรมแพทยสภา ได้เขียนบทความเรื่อง ช่วยประชาชน ช่วยแพทย์ และช่วยชาติ เผยแพร่ในนสพ.มติชน วันที่ 12 ม.ค.58 มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเห็นต่างเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ มีรายละเอียดดังนี้

“เนื่องด้วยเสียงส่วนใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องได้คัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... (หรือชื่ออื่นๆ ที่มีเนื้อหาแบบเดียวกัน) มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (โดยเห็นได้ชัดในกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องนี้ได้ดี) โดยเหตุผลนานาประการ ผมจึงมีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมีการเสนอร่างดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในระบบสาธารณสุขของประเทศ (ซึ่งยากยิ่งในการแก้ไขภายหลัง) ทันที

ดังนั้นจึงควรชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อนเพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศ และใช้วิธีอื่นในการช่วยประชาชนและแพทย์ รวมทั้งประเทศชาติด้วย ตามข้อเสนอของแพทยสภาดังนี้ครับ

ในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งที่ 5/2557 วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 มีมติดังนี้

1.ยืนยันตามความเห็นเดิม ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....

2.เห็นชอบให้แก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 โดยขยายการคุ้มครองทั้ง 3 ระบบตามที่ได้เคยเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วตั้งแต่ 23 มกราคม 2555 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ครับ

ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 และ 42) พ.ศ....

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 41 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้ แทน

"ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ในกรณีที่ผู้รับบริการสุขภาพได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการโดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด"

มาตรา 4 ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 42 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

"ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการและได้ตกลงรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ให้สิทธิการฟ้องร้องต่อศาลเป็นอันระงับสิ้นไป"

ผลดีของร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41 และ 42) พ.ศ.....

1.ผู้เสียหายทางการแพทย์ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ในระบบประกันสังคม และในระบบสวัสดิการข้าราชการได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม (ทำโดยมืออาชีพของสำนักงานหลักประกันฯที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ)

2.แพทย์มีความกล้าที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยโดยไม่ต้องวิตกกังวล (เพราะยุติการฟ้องร้องได้อย่างสิ้นเชิง)

3.ไม่ต้องสิ้นเปลืองภาษีอากรของประชาชนในการจัดตั้งกองทุนใหม่

จะเห็นได้ว่าร่าง (แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งมีเพียง 4 มาตรา และแก้ไขข้อบังคับอีกเพียงเล็กน้อย (ตามร่างฯที่แพทยสภาได้เสนอแก้ไขไปแล้ว) ก็จะคุ้มครองประชาชนและแพทย์ทั้งประเทศได้อย่างแท้จริง

และสามารถยุติการฟ้องร้องได้โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ

ร่าง (แก้ไขเพิ่มเติม) ข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ.....

ข้อ 4 ในข้อบังคับนี้

"การรักษาพยาบาล" หมายความว่า การรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ

"หน่วยบริการ" หมายความว่า หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ

ข้อ 6 "ประเภทของความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการและ อัตราจ่ายเงินช่วยเหลือ แบ่งเป็น

(1) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 2,000,000 บาท

(2) สูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท

(3) บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 500,000 บาท"

ข้อ 10 ในกรณีผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการที่สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือ ให้ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว รับเงินพร้อมทำบันทึกกับคณะอนุกรรมการสละสิทธิการดำเนินคดีในศาลทันทีที่รับเงินช่วยเหลือ

สุดท้ายนี้ ผมเสนอให้มีการลงมติจากแพทย์ทั้งประเทศก่อน (เพราะเป็นผู้ที่ได้ดูแลและใกล้ชิดผู้ป่วยจริง) โดยใช้งบประมาณไม่มากเพราะมีประมาณสี่หมื่นกว่าคนเท่านั้น ว่าวิธีใดจะเป็นการช่วยประชาชน ช่วยแพทย์ และช่วยชาติได้ดีกว่ากัน ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..... กับการแก้ไขมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพฯตามที่แพทยสภาเสนอ

ถ้ารักประชาชนจริง รักแพทย์จริง รักชาติจริง ได้โปรดหยุดสักนิด คิดก่อนทำ ด้วยความเคารพต่อทุกความเห็นทั้งที่แสดงออกและไม่ได้แสดงออกในสื่อครับ”

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 12 ม.ค. 2558