แพทยสภานำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ได้จัดแถลงข่าวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข วันที่ 8 ธันวาคม 2557 จากมติเป็นเอกฉันท์หลังผ่านการอภิปรายของกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ.2555-2557 ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรม ผู้ได้รับมอบหมายให้ตั้งอนุกรรมการดูแลเรื่องกฎหมายใหม่ ได้เสนอให้แก้ไขมาตรา 41 ให้คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขทั้งประเทศ, ในวันที่ 9 มีนาคม 2558 แพทยสภานำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ได้จัดแถลงข่าวอีกครั้ง เป็นการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างถึงที่สุด ตามมติเดิม เนื่องจากข้อตกลงของกรรมการแพทยสภาคือ หากยังไม่มีข้อตกลงใหม่ ให้ใช้มติเดิม ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรม ได้ย้ำให้แก้ไขมาตรา 41 ให้คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขทั้งประเทศ
ทำไมแพทยสภาจึงต้องคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างถึงที่สุด ทั้งให้แก้ไขมาตรา 41 ให้คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขทั้งประเทศ ? มีเหตุผลอะไร ? แพทยสภาก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้หรือไม่ ?
ความเป็นจริงคือ แพทยสภาได้ทำตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ในมาตรา 7 ข้อ (4)-(6) ดังนี้
(4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข
(5) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
(6) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย
สำหรับเหตุผลที่ต้องคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างถึงที่สุด และแก้ไขมาตรา 41 ให้คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีดังนี้
1.หลักการที่สำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและมาตรา 41 ไม่แตกต่างกัน คือชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด, ช่วยแก้ไขความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้, ช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้, เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และคนไข้, มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขให้น้อยที่สุด
2.มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 สามารถขยายให้ครอบคลุมทุกสิทธิ ในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ซึ่งเดิมมีการคัดค้านว่าเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม สาระสำคัญใหม่ที่ถูกแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ลงมติวาระ 3 เห็นชอบ ได้เพิ่มเรื่อง "ให้จ่ายค่าใช้จ่ายเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์" ดังนั้น เหลือแต่ข้อตกลงที่จะขยายมาตรา 41 ไปยังสิทธิข้าราชการ ซึ่งมีข้าราชการจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน
3.มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถลดการฟ้องร้อง ร้องเรียน และลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้จริง
4.มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 สามารถปรับเพดานการจ่ายเงินช่วยเหลือได้ ดังที่มีการปรับไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเพดานการได้รับเงินช่วยเหลือนั้นน้อยไป
5.ประชาชนคุ้นเคยกับมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 เพราะตั้งมานาน 12 ปี ทั้งสามารถร้องเรียนง่าย เนื่องจากมีสำนักงานสำหรับร้องเรียนกระจายทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน ประชาชนสามารถเข้าถึง และเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้โดยง่าย
6.มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มีกรรมการ อนุกรรมการครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องตั้งสำนักงานใหม่ ไม่ต้องมีกรรมการอนุกรรมการใหม่
7.อาจเกิดความเสียหายจากการตั้งกองทุนใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังย่ำแย่ ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าจำนวนกว่าหมื่นล้าน หากเกิดกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขจะต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าปีละนับพันล้านบาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนเงินที่ใช้จ่ายตาม พ.ร.บ. เหมือนสำนักงานของกองทุนอื่นๆ ตั้งแต่งบบริหารจัดการร้อยละ 10, เงินเดือน, เบี้ยเลี้ยง, ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส), ค่าศึกษาดูงาน, ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่ายานพาหนะ ฯลฯ ของประธาน, ที่ปรึกษาอาวุโส, ที่ปรึกษาวิชาการ, ที่ปรึกษากฎหมาย, กรรมการ, อนุกรรมการ, เจ้าหน้าที่ ฯลฯ
เงินจำนวนพันล้านหรือมากกว่านั้นต่อปีที่จะต้องสูญเปล่าจากการบริหารกองทุน หากนำมาเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล ซื้อยา ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่ขาดแคลน ใช้เป็นค่าจ้าง ค่าตอบแทนบุคลากร ฯลฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด
สรุป การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างถึงที่สุดของแพทยสภา เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติจนไม่อาจเยียวยา ดังโครงการหลายโครงการที่หลักการดี
แต่เมื่อลงมือปฏิบัติ สร้างปัญหาที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้
ผู้เขียน : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukhol.com) โฆษกแพทยสภา
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 14 เมษายน 2558
- 301 views