ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บานปลายออกไปจนเกิดการตอบโต้ซึ่งกันและกัน สปสช.ได้ออกสมุดปกขาว เพื่อตอบโต้สิ่งที่ สปสช.เรียกว่าการปลุกระดมสาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาล ให้ร้ายการบริหารงบกองทุนประกันสุขภาพ ขณะที่ชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปและ สสจ.ประกาศไม่ให้ความร่วมมือ สปสช. งดส่งข้อมูลงบเหมาจ่ายรายหัว จนกว่าบอร์ด สปสช.จะแก้ไขปัญหาการจัดสรรงบบัตรทองอย่างจริงจัง โดยยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวไม่กระทบต่อการบริการประชาชน
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
อันที่จริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนดีทะเลาะกับคนดี โดยมีความเชื่อ ฐานข้อมูล เหตุผลไม่เหมือนกัน ไม่สามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ ทั้งๆ ที่แต่ละฝ่ายมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีมีคุณภาพ และโรงพยาบาลที่รับงบบัตรทองไม่ล้มละลาย ซึ่งส่งผลดีเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของประชาชนไทยทั้งสิ้น
จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาระหว่าง สปสช.และ สธ.ไม่อาจทำได้หากไม่มีการแก้ไขระบบที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง อันที่จริงระบบที่แยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการนั้น มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการ เช่น ระบบประกันสุขภาพของประกันสังคม
วิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง สปสช.และ สธ.มีดังนี้
1.จำนวนเงินจัดสรรต่อหัวไม่ควรรวมเงินเดือน ควรจัดสรรให้เพียงพอ ให้คิดเสียว่าโรงพยาบาลรัฐนั้นคือหน่วยบริการที่ สปสช.ต้องซื้อบริการเช่นเดียวกับหน่วยบริการเอกชน
2.อนุญาตให้มีการจ่ายร่วม หรือร่วมจ่ายเพื่อความมั่นคงของระบบการเงินการคลังของประเทศ และสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
3.รัฐควรหาเงินส่วนอื่นที่ไม่รวมค่าหัว มาช่วย สปสช.และ สธ. ในกรณีที่มีโครงการพิเศษต่างๆ รวมถึงการตั้งกองทุนย่อยต่างๆ เพื่อสุขภาพของประชาชน
4.รัฐควรกำกับดูแลการทำงานของ สปสช.และ สธ.ให้ไปด้วยกัน ในแง่ประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาระบบบริการ การดูแลเรื่องกำลังคน การพัฒนาเทคโนโลยี ความสามัคคี ฯลฯ โดยเข้าใจบริบทของทั้งสองฝ่าย
สรุป ความขัดแย้งระหว่าง สปสช.และ สธ.ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการแก้ไขที่ตัวบุคคล แต่ควรแก้ไขระบบ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำเพื่อคืนความสุขให้แก่ประชาชน ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย
ผู้เขียน : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com)
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 กันยายน 2558
- 14 views