แพทยสภาแถลงข่าวค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย อย่างถึงที่สุด ยันผลักดันขยายมาตรา 41 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน เผยเสนอร่างกฎหมายที่แก้ไข ม.41 ให้ สธ.แล้ว และจะนำเสนอต่อ ครม. สนช. สปช. และรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ศ.คิลนิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา คนที่ 1 นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธ์ นพ.วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ และนพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาได้แถลงข่าวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการได้รับบริการสาธารณสุข อย่างถึงที่สุด
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการได้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งตั้งกองทุนใหม่ เป็นการเสียงบประมาณของประเทศชาติโดยไม่จำเป็น ควรใช้กองทุนที่มีอยู่เดิมจะดีกว่า หากตั้งกองทุนใหม่จะซ้ำซ้อนกับของ สปสช. ซึ่งในสปสช.มีอนุกรรมการรับเรื่องร้องทุกเขต ทุกจังหวัด ถ้าจ่ายเงินให้ทุกคนที่เดือดร้อนโดยไม่พิจารณาถูกผิด จะทราบได้อย่างไรว่า ผลกระทบเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคหรือเป็นผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการรักษาพยาบาล คนที่พิจารณาไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์จะพิจารณาได้อย่างไร ถ้าไม่ดูรายละเอียด เราจะป้องกันปัญหาในอนาคตได้อย่างไร ถ้าแพทย์ไม่ได้มาตรฐานหรือทำผิดข้อบังคับจริยธรรมของแพทยสภาก็ต้องส่งแพทยสภาพิจารณาอยู่แล้วกรรมการกองทุนต้องมาประชุมเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ ต้องตั้งคณะอนุกรรมการและกรรมการอุทธรณ์ซ้ำกับสปสช.ที่มีอยู่แล้ว
“การจ่ายเงินง่ายๆ จะทำให้มีการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น และการจ่ายเงินทุกรายทำให้แพทย์ไม่ต้องอธิบายกับคนไข้ซึ่งประเด็นความสัมพันธ์ของแพทย์และผู้ป่วย ต้องการให้แพทย์สื่อสาร อธิบายให้ผู้ป่วยทราบปัญหาและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้ชัดเจน จะได้ไม่เกิดการร้องเรียน หรือฟ้องร้อง แต่กฎหมายนี้การอธิบายและไม่อธิบาย ไม่มีผลแตกต่างกัน อย่างไรต้องจ่ายเงินเหมือนกัน ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น แพทย์ก็ไม่ต้องอธิบายอีกต่อไป เงินที่ใช้ในการรักษาพยาบาลจะถูกตัดไป เนื่องจากต้องไปจ่ายชดเชยผู้ป่วย ทำให้คุณภาพลดลง และแพทย์จะทำการรักษาอย่างป้องกันตัวเองมากขึ้น” นายกแพทยสภา กล่าว
ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวว่า แพทยสภาได้เสนอขอแก้ไข มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ขยายครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน และเน้นการช่วยเหลือแบบสิ้นสุดเลย โดยเมื่อรับเงินช่วยเหลือแล้วต้องยุติการฟ้องร้อง ซึ่งมาตรา 41 ของพ.ร.บ.สุขภาพนั้นไม่จำเป็นต้องตั้งอะไรเพิ่มเติม เพราะ สปสช.ก็ดำเนินการได้ดีมาตลอด โดยมีการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ป่วยไปประมาณปีละ 200 ล้านบาท ดังนั้นแพทยสภาจะผลักดันเรื่องมาตรา 41 อย่างไรก็ตามหากยังมีการผลักดันเรื่องนี้กันอยู่ ทางแพทยสภาเองคงต้องมีการเคลื่อนไหว อาจจะต้องมีการรวมตัวกันเพื่อทำอะไรสักอย่าง
“ขณะนี้ได้นำร่างกฎหมายเสนอขยาย ม.41 เสนอกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว และจะเสนอร่างฯ ดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง” ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว
นพ.เมธี กล่าวว่า ร่ากฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฉบับใหม่นั้น แม้จะมีหลักการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับฉบับเดิม แต่มีหลายเรื่องที่ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น การรับเงินช่วยเหลือแล้วจบเรื่อง ซึ่งในทางแพ่งเป็นไปได้ แต่ก็ยังให้มีการฟ้องทางอาญาอยู่ หรือการปรับลดสัดส่วนคนนอกที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาเป็นกรรมการและเพิ่มสัดส่วนแพทย์เข้าไปก็จริง แต่เป็นแพทย์นักบริหาร เช่น ปลัดกระทรวง ตรงนี้ถ้าไม่ใช่แพทย์ที่ปฏิบัติงานย่อมไม่เข้าใจ รวมถึงการตัดสินมาตรฐานการรักษาก็ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานจริง และตัดสินกันด้วยเหตุด้วยผล ผิดว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก ไม่ใช่การโหวต ตรงนี้ เมื่อถึงชั้นกฤษฎีกาต้องมีการตีเรื่องกลับให้มีการแก้ไข และคิดว่าจะเป็นการแก้ไขไปแบบเดิม เป็นการหลอกให้มีการยอมรับเพื่อให้ผ่านวาระที่ 1 เท่านั้น สุดท้ายจะมีแพทย์ออกมาคัดค้านหนักเหมือนเดิม
“ขณะนี้ประกันสังคมกำลังผลักดันกฎหมายชดเชยความเสียหายคล้ายมาตรา 41 ให้กับผู้ประกันตนด้วย และเชื่อว่ากรมบัญชีกลางก็ดำเนินการเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เป็นการผลักดันให้การช่วยเหลือผู้ป่วยครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่กลับคัดค้าน และพยายามให้มีกองทุนใหม่ขึ้นมา อย่างนี้แปลว่าต้องการให้มีการตั้งสำนักงานใหม่ มีคนใหม่ๆ มานั่งเก้าอี้อีกหรือไม่ เพราะอะไร และในการประชาพิจารณ์ของ สบส. วันที่ 10 มี.ค.นี้ แพทยสภาคงไม่ส่งคนเข้าร่วม เพราะไม่อยากให้เอาชื่อไปอ้างเพื่อรับรองร่าง พ.ร.บ.ใหม่ แต่จะส่งความเห็นคัดค้านพร้อมเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรไปให้” นพ.เมธี กล่าว
นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแพทย์ทั่วประเทศคัดค้านกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด ผลการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาที่ผ่านมาก็สะท้อนว่า กลุ่มแพทย์ที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากกว่าแพทย์ที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ อย่างนี้ก็ถือเป็นประชาพิจารณ์ได้เช่นกัน แต่การคัดค้านนี้ไม่ได้หมายความเราไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองประชาชน เราเห็นด้วย แต่ต้องคุ้มครองให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำแบบประชานิยม ยิ่งเรื่องการไม่พิสูจน์ความจริงเป็นไปไม่ได้เลย ตรงนี้ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในกฎหมายดังกล่าว ไม่ไว้วางใจกลุ่มที่เสนอ และไม่ไว้วางใจการแปรญัตติ
- 8 views