ตอนสุดท้ายของการ เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” มีอีก 2 ประเด็นสำคัญที่ “คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ได้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Health focus ได้นำเสนอรายงาน “ประมวลความเห็นหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ” โดยหยิบยกข้อเสนอแนะด้านสุขภาพจำนวน 6 ประเด็น มาเผยแพร่ผ่านตอนที่ (1) และ (2) แล้ว
สำหรับประเด็นที่ 7-8 มีสาระสำคัญดังนี้
ผนึกกำลังชุมชน-อำเภอ ป้องกันภัยสุขภาพ
7.รัฐต้องเร่งพัฒนาระบบสุขภาพที่ให้ความสำคัญต่อการจัดบริการสาธารณสุขปฐมภูมิที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคและภัยคุกคามสุขภาพ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของสังคมไทย
หลักการที่นำเสนอคือ ระบบบริการทางการแพทย์ปัจจุบันเน้นการรักษามากกว่าการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนส่วนมากต้องเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บที่สามารถป้องกันได้ สินค้าและบริการด้านสุขภาพบางส่วนก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
มีประชากรต่างด้าวเพิ่มขึ้นทั้งถูกและผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่อาศัยในชุมชนแออัด สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ส่งผลต่อสุขภาพและเป็นพาหะของโรคติดต่อที่สำคัญ การเปิดการค้าเสรีอาเซียนและการโยกย้ายของแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อแบบแผนการจัดบริการสาธารณสุข ระบบการเฝ้าระวังและการสร้างเสริมป้องกันโรค
การให้ชุมชนจัดการตนเองในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการจัดการภัยคุกคามสุขภาพได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนาความเข้มแข็งของกิจกรรมสำคัญในชุมชน การให้ความสำคัญในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งการใช้กลไกระบบบริการสุขภาพผสมผสานในระดับอำเภอ (District Health System)
ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ด้วยเป้าหมายร่วมกัน ภายใต้หลักการดำเนินงานของระบบสุขภาพระดับอำเภอ (UCARE) 5 ประการ ได้แก่ 1.การทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ 2.การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชน (Community participation) 3.การทำงานจนเกิดคุณค่าทั้งกับผู้รับบริการและผู้ให้บริการเอง (Appreciation and Quality) 4.การแบ่งปันทรัพยากรและการพัฒนาบุคลากร (Resource sharing and human development) 5.การให้บริการสุขภาพตามบริบทที่จำเป็น (Essential care) เชื่อมต่อกับการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาพชุมชน
ทั้งนี้ เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
สร้างกลไกคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ 3 ระบบสุขภาพ
8.รัฐต้องคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกับผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม
หลักการที่นำเสนอคือ การขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขส่งผลทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขน้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาคิวรอตรวจและผ่านตัดล่าช้า และมีการส่งต่อเพิ่มขึ้น ประชาชาชนมีความต้องการบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น แนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น และสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย/ญาติ ที่นำไปสู่ประเด็นการฟ้องร้องส่งผลทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขขาดขวัญและกำลังใจ อัตราการลาออกสูง การขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขส่วนหนึ่งไหลจากภาครัฐไปเอกชน
การบริการจัดการปริมาณผู้เชี่ยวชาญรายสาขาให้เกิดความสมดุลและเป็นไปตามความจำเป็น และควบคู่กับการเพิ่มปริมาณบุคลากรผู้ทำหน้าที่จัดบริการสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาการให้บริการสาธารณสุขเป็นรูปแบบของทีมสหสาขาวิชาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการและความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพลง และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพ และการสร้างฉันทะ แรงจูงใจ และขวัญกำลังใจ
รวมถึงสนับสนุนความก้าวหน้าในวิชาชีพแก่บุคลากรด้านสุขภาพทุกระดับ เพิ่มกลไกลการจัดการความปลอดภัย และการประกันความเสี่ยงของผู้ให้บริการและผู้รับบริการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการสุขภาพ และพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการบริการสุขภาพที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลและสร้างความสมานฉันท์
ส่วนผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พบว่าการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขธรรมดา และการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้เสียหายมีความจำกัดเฉพาะผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ไม่รวมถึงระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคม หรือแม้แต่การใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน
ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายไม่มีทางเลือกในการดำเนินการที่จะได้รับการชดเชยความเสียหาย นอกจากต้องอาศัยกระบวนการยุตธรรม ซึ่งเป็นภาระในการดำเนินการและมีอุปสรรคมากมาย ที่สำคัญส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขกับผู้ป่วย
ทั้งนี้ เสนอให้บรรจุในโครงร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
สำหรับข้อเสนอทั้ง 8 ประเด็น ที่สำนักข่าว Health focus นำมาเผยแพร่ตั้งแต่ตอนที่ (1) (2) และ (3-จบ) นั้น จะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกบรรจุลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (1) ดันสุขภาพมาตรฐานเดียว
เปิดข้อเสนอ “กมธ.ปฏิรูปสาธารณสุข” (2) ปฏิรูป 3 กองทุนสุขภาพ ลดภาระการคลัง
- 1 view