กระทรวงสาธารณสุข เปิด 2 กล่องของขวัญให้เด็กไทย เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2558 ชิ้นแรก คือ สมุดขาว-เขียว ตรวจพัฒนาการเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เป็นครั้งแรกของประเทศ ใช้ควบคู่ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ปกครอง ดูแลเด็กปกติและเด็กที่มีพัฒนาการช้า เริ่มใช้เมษายน 2558 ชิ้นที่สอง คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน เข็มที่ 2 ให้เด็กอายุ 2 ขวบครึ่งทุกคน เปลี่ยนจากเดิมที่ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ตอนอายุ 7 ปี เหตุพบเด็ก 2 ขวบแม้ได้วัคซีนเข็มแรกมาแล้ว แต่กลับป่วยมากขึ้น จึงต้องฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ตอนอายุ 2 ขวบครึ่งแทน เริ่มพฤษภาคม 2558 สามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆจากการเจ็บป่วยได้รวม 205 ล้านบาท
7 ม.ค.58 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายการดูแลสุขภาพคนไทย ในระยะ 10 ปี เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าให้คนไทยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 ปี และต้องมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปี เน้นหนัก 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาสุขภาพ 5 กลุ่มวัย คือ กลุ่มแม่และเด็กปฐมวัย 0-5 ปี กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 5-14 ปี กลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุ 15-21 ปี กลุ่มวัยทำงานอายุ 15 – 59 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ 2.พัฒนาและจัดระบบบริการ ตั้งแต่ระบบปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ การควบคุมโรค การคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการป้องกันและบำบัดยาเสพติด ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ครอบคลุมประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ และ3.พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ
ทั้งนี้เนื่องจากวันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558 เป็นวันเด็กแห่งชาติ เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การที่เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีคุณภาพนั้น เด็กจะต้องมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และ สติปัญญา จึงมีความจำเป็นที่เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น กระทรวงสาธารณสุขเตรียมของขวัญมอบให้เด็กไทย 2 ชิ้น เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีสติปัญญาเกิน 100 เทียบเด็กสากล ได้แก่ 1.การดูแลพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองของพัฒนาการ ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมก้าวเข้าสู่ระบบโรงเรียนอย่างชาญฉลาด
จากการสำรวจระดับพัฒนาการของเด็กในปี 2555 ของกรมสุขภาพจิต พบเด็กที่พัฒนาการสมวัย มีพัฒนาการก้าวหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 81 และพัฒนาการไม่ก้าวหน้า ร้อยละ 19 จำเป็นจะต้องดูแลเด็กทั้งสองกลุ่มนี้ควบคู่กันและยกระดับการดูแลหญิงตั้งครรภ์ การดูแลการคลอด โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2557กรมอนามัยได้สำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัย พบเด็กมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ73 ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัยไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 85
ในการพัฒนาดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุข จะพัฒนาคลินิกฝากครรภ์ให้มีคุณภาพในโรงพยาบาลสังกัดทุกแห่ง รณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมาฝากครรภ์เร็วขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 3 เดือน และได้รับยาวิตามิน ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุจำเป็นในการพัฒนาสมองเด็ก 3 อย่าง ได้แก่ โฟลิกแอซิด ไอโอดีน และ เหล็ก กินต่อเนื่องจนถึงหลังคลอด 6 เดือน ฟรี รวมทั้งให้แม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอเพื่อบำรุงเด็กในครรภ์ ป้องกันปัญหาเด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม พัฒนามาตรฐานห้องคลอดเพื่อป้องกันกันปัญหาเด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และ พัฒนาคลินิกสุขภาพเด็กดี ซึ่งจะมีการให้วัคซีนพื้นฐาน เช่น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน หัด คางทูม โปลิโอ เป็นต้น และตรวจพัฒนาการของเด็กทุกคน โดยใช้แบบประเมินที่พัฒนาโดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ซึ่งมี 2 ชุด ประกอบด้วยชุดประเมินเด็กปกติ หรือสมุดขาว และคู่มือประเมินเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือสมุดเขียว ซึ่งเป็นคู่มือมาตรฐานของเด็กไทยชุดแรกในประเทศ ขณะนี้ใช้แล้ว 33 จังหวัด และจะแจกให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในเดือนเมษายน 2558 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องในวโรกาสครบรอบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 คู่มือทั้งสองเล่มนี้ใช้สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ปกครองควบคู่กัน จะทำให้ผู้ปกครองรู้ถึงสัญญาณความผิดปกติของพัฒนาการเด็ก หากพบเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าจะเร่งให้การกระตุ้นบำบัดโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถกลับมามีพัฒนาการสมวัยเหมือนเด็กปกติได้ พร้อมกันนี้จะขยายใช้ในโรงพยาบาลเอกชนด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีกับเด็กมั่นใจว่าในอนาคตเด็กไทยทุกคนจะมีพัฒนาการสมบูรณ์แบบเต็มร้อย
สำหรับของขวัญชิ้นที่ 2 คือ การเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด และหัดเยอรมัน ซึ่งโรคทั้ง 2 นี้ เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันง่าย เมื่อเด็กป่วยหากได้รับการดูแลไม่ดีจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบอาจเกิดหูหนวกได้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนทั่วประเทศต้องได้รับการฉีด 2 ครั้งตลอดชีวิต เดิมจะเริ่มฉีดเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นซ้ำเข็มที่ 2 ในช่วงอายุ 7 ปี
ที่ผ่านมาพบเด็ก 2 ขวบที่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัดแล้ว กลับป่วยเป็นโรคหัดมากขึ้นเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำลง กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนเกณฑ์การให้ฉีดวัคซีนโรคหัดครั้งที่ 2 ให้เร็วขึ้นคือจะฉีดช่วงอายุ 2 ปีครึ่งในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 อายุ 2 ปี ครึ่ง – 7 ปี อีก 3 ล้านคนทั่วประเทศ จะเริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กันยายน 2558 เมื่อฉีดครบทุกคนแล้วจะทำให้เด็กไทยอายุ 2 ปีครึ่งทุกคนมีภูมิต้านทานโรคหัดและหัดเยอรมัน รวมทั้งกำจัดโรคหัดให้หมดไปจากประเทศไทย ตามข้อตกลงในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัดให้เหลือไม่เกิน 1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ภายในปี 2563 ซึ่งในปี 2557 พบเด็กไทยป่วยจำนวน 1,047 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1.6 ต่อประชากร 1 แสนคน และมีแนวโน้มการป่วยลดลงเรื่อยๆ จากปี 2555 มีผู้ป่วยจำนวน 5,207 ราย
คาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยทั้งสองโรคจะลดลงเรื่อยๆ จะทำให้ไทยประสบผลสำเร็จในการลดค่าใช้จ่ายต่างๆจากการเจ็บป่วยได้รวม 205 ล้านบาท ประกอบด้วยค่ารักษา 29 ล้านบาท ค่าควบคุมโรค 146 ล้านบาท และลดการสูญเสียรายได้ 30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลในระยะยาว
- 19 views