“รมว.รัชตะ” ระบุการเปลี่ยนแปลงการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้รอข้อมูลจากการศึกษาให้รอบคอบ ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหว เผยผลหารือสธ.-สปสช.ได้ข้อสรุป 3 ข้อ 1.ให้ทดลองคำนวณตามข้อเสนอจัดใหม่เพื่อดูว่าผลคำนวณออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร 2.จัดรับฟังความคิดเห็นเข้มข้นกว่าทุก เน้นเอาข้อมูลแลกเปลี่ยน ใต้หลักการแยกผู้ชื้อบริการและผู้ให้บริการ ยึดประโยชน์ผู้ป่วย เกิดประโยชน์หน่วยบริการและคนทำงาน 3.มอบปลัดสธ.ดูแลปัญหา รพศ.-รพท.ไม่ส่งข้อมูลให้สปสช.
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ (5 ม.ค.) ได้เชิญ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประธานคณะอนุการเงินการคลังของสปสช. ปรึกษาหารือแนวทางที่จะดำเนินการต่อในการบริหารระบบการเงิน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้มีการหารือใน 3 ประเด็นดังนี้
1.ตามที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 มีมติให้คณะอนุการเงินการคลังทำงานต่อ เพื่อที่จะลองทำแบบจำลองของกลไกการเงินใน 2 เขตบริการสุขภาพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อดูว่าเมื่อคำนวณออกมาแล้วออกมาในทิศทางตรงกันหรือไม่ ในประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.มีมติว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อ จะพูดคุยกัน ให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในเขตบริการสุขภาพเข้ามารับทราบ มีส่วนร่วม และให้ความเห็น และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกครั้ง
2.จากการที่ดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมา 12 ปี มีบทเรียนประสบการณ์เกิดขึ้นมากมาย มีการปรับกลไก การเงิน การบริหารจัดการมาโดยตลอด ซึ่งมาตรา 11 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุให้มีการรับฟังความคิดเห็นทุกปี เพื่อการดำเนินงานในปีต่อไป โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมาให้ความเห็น ซึ่งในปีนี้จะได้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นกว่าทุกปี โดยจะหารือกับ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจริงๆ เอาข้อมูลมาดูกัน จะมีแนวทางปรับให้ดีขึ้นได้อย่างไร ภายใต้แนวคิดของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่แยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ เพื่อเกิดประโยชน์มากที่สุดกับผู้ป่วย เกิดประโยชน์กับหน่วยบริการและคนทำงานมีความสุข
3.ที่มีข่าวแพร่ออกไปว่าชมรมรพศ./รพท./สสจ. จะไม่ส่งข้อมูลการบริการให้กับ สปสช. ได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขช่วยดูแลในเรื่องนี้
“การแก้ไขปัญหาต้องเอาข้อมูลมาดูกันก่อน การไม่เห็นข้อมูลว่าวิธีการคิดแตกต่างกันอย่างไร ค่อยๆ ปรับความคิดเข้าหากัน จะปรับความคิดให้ตรงกันยังไง เพราะบางทีเวลาพูดแล้วอาจเข้าใจไม่ตรงกัน พอเห็นตัวเลข เห็นความแตกต่างก็เอามาวิเคราะห์กัน ถ้าแตกต่างกันแล้วเราจะปรับกันอย่างไร เราจะหาทางออกโดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก โดยการพูดจาหารือกัน ไม่ยื้อเวลา จะเร่งรัดให้เสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องรอบคอบ ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหว เรากำลังช่วยกันแก้ปัญหา” ศ.นพ.รัชตะกล่าว
- 3 views