การให้วัคซีนเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ที่มีความคุ้มค่ากว่าเมื่อต้องทำการรักษาหลังจากติดเชื้อหรือเป็นโรคแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าโรคระบาดร้ายแรงบางโรคได้สูญหายไปจากโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการนำวัคซีนมาใช้ เช่น โรคฝีดาษ การทำงานของวัคซีนจะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเครื่องป้องกันของร่างกายและทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้วัคซีนพื้นฐาน จำนวน 8 ชนิด ที่ป้องกันโรคจำนวน 10 โรค ได้แก่ วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ตับอักเสบบี และไข้สมองอักเสบเจอี
ย้อนกลับไปในอดีต การให้วัคซีนครั้งแรกของไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2378 มีบันทึกการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2378 โดยหมอบลัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) เป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ ในช่วงเวลานั้นประสบปัญหาเรื่องการขนส่งพันธุ์หนองฝีวัวที่ใช้ปลูกฝี ซึ่งต้องนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้หมอบลัดเลย์ต้องใช้หนองฝีจากผู้ที่ปลูกฝีขึ้นดีแล้วมาใช้ต่อ และหมอบลัดเลย์ยังได้พยายามหาวิธีการที่จะทำให้มีพันธุ์หนองฝีไว้ใช้ได้ตลอด จึงได้ทำการทดลองผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นเองในปลายปี พ.ศ. 2385 โดยการฉีดหนองฝีจากผู้ป่วยไข้ทรพิษเข้าไปในวัวจนประสบความสำเร็จ ทำให้ในสมัยนั้นภารกิจหลักของบรรดามิชชันนารีก็คือการเดินทางออกไปปลูกฝีตามที่ต่างๆทั่วประเทศ
หลายสิบปีต่อมา เสนาบดีกระทรวงธรรมการสมัยนั้นได้จัดส่งนายแพทย์ 2 นายคือ นายเอชอาดัมสัน (พระบำบัดสรรพโรค) กับนายอัด หสิตะเวช (พ.ต. อัด หสิตะเวช) ไปศึกษาวิชาการทำพันธุ์หนองฝี ณ เมืองมะนิลา เกาะฟิลิปปินส์ จนเกิดการทำพันธุ์หนองฝีขึ้นใช้เองโดยฝ่ายราชการเป็นครั้งแรกในพระมหานครเมื่อปีพ.ศ. 2444 ต่อมาจึงย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยและย้ายที่ทำการปลูกเพาะพันธุ์หนองฝีไปตั้ง ณ ตำบลห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม กระทั่งในปี พ.ศ. 2456 เมื่อรัฐบาลไทยออกกฏหมายบังคับให้ประชาชนทุกคนปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ การปลูกฝีโดยมิชชันนารีจึงค่อยๆลดความสำคัญลง
การปลูกฝีในประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2445
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ได้มีการจัดตั้งสถานที่ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เรียกว่า “ปาสตุระสภา” รวมทั้งได้ย้ายกิจการทำพันธุ์หนองฝีและทำวัคซีนอื่นที่จังหวัดนครปฐมมาดำเนินการอยู่ด้วยกัน และด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนจากสถานปาสเตอร์แห่งประเทศฝรั่งเศส ในปีพ.ศ. 2460 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์” ตามชื่อของหลุยส์ ปาสเตอร์(Louis Pasteur) ผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ ต่อมาภายหลังได้โอนกิจการสถานปาสเตอร์ให้สภากาชาดไทยเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด และได้มีการจัดสร้างอาคารสถานที่ตั้งทำการแห่งใหม่ของสถานปาสเตอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ “สถานเสาวภา” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 ตั้งแต่นั้นมาสถานเสาวภาได้กลายเป็นศูนย์กลางแหล่งกำเนิดของวัคซีนป้องกันโรคในประเทศไทย ทั้งการผลิต การวิจัยและการบริการที่มีคุณภาพโดยครอบคลุมการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ อย่างกว้างขวางนับจนปัจจุบัน
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
เก็บความและภาพจาก
อุษา ทิสยากร. ประวัติความเป็นมาของวัคซีนโดยสังเขป.
แหล่งที่มา http://www.pidst.net/userfiles/1_%20ประวัติความเป็นมาของวัคซีนโดยสังเขป.pdf
- 2947 views