สปสช.พัฒนาเครือข่าย วางระบบเพิ่มประสิทธิภาพช่วยผู้ป่วยได้รับสารพิษเข้าถึงยาต้านพิษเพิ่ม นำร่อง 6 พื้นที่ หลังพบหลายพื้นที่มีปัญหาทั้งระยะทางห่างไกลจาก รพ.แม่ข่ายศูนย์สำรองยาต้านพิษ การคมนาคมไม่สะดวก ภูมิประเทศสูงชัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาต้านพิษในเวลาที่เหมาะสม สูญเสียโอกาสในการรักษา เผยผลดำเนินการประสบผลสำเร็จดี เตรียมขยายพัฒนาเครือข่ายฯ ในพื้นที่อื่นต่อไป เน้นจัดระบบที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่  

  

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่บอร์ด สปสช.มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงยากลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2554 โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมพิษวิทยาคลินิก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ศูนย์พิษวิทยา รพ.ศิริราช และศูนย์รักษาพิษจากสัตว์ สถานเสาวภา ส่งผลให้การเข้าถึงยากลุ่มยากำพร้าโดยเฉพาะกลุ่มยาต้านพิษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยได้รับยารวมในโครงการ 6,425 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่เริ่มโครงการซึ่งมีจำนวน 49 ราย ทั้งยังประหยัดงบประมาณโดยรวมของประเทศในการจัดซื้อเซรุ่มต้านพิษงูลงได้กว่าร้อยละ 50 ในแต่ละปี

ทั้งนี้แม้ว่าตัวเลขการเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษของผู้ป่วยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยังพบปัญหาการเข้าไม่ถึงยาในระยะเวลาที่เหมาะสมและทันเหตุการณ์ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษส่วนหนึ่งสูญเสียโอกาสในการรักษาเพื่อให้กลับมาปกติและบางรายต้องเสียชีวิตลง สาเหตุเกิดจากไม่มีระบบรองรับการดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มยาที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยอาการ จัดหายา และจัดส่งยาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงได้ร่วมกับสมาคมพิษวิทยาคลินิกดำเนินโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายรองรับการดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ : เครือข่ายฯ นำร่อง 6 พื้นที่” โดยดำเนินการให้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน อุดรธานี ตาก น่าน ระยอง สุราษฎร์ธานี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2558 และดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2559

เป้าหมายเพื่อให้มีการวิเคราะห์ปัญหาการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้กลุ่มยาต้านพิษในระดับพื้นที่ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้กลุ่มยาต้านพิษ โดยจัดระบบที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมป้องกันการเกิดพิษที่สามารถป้องกันได้ในชุมชนและดูแลตนเองอย่างยั่งยืน

ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่นำร่องโครงการพัฒนาเครือข่ายฯ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษนี้ แต่ละพื้นที่มีลักษณะพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่เป็นปัญหาต่อการเข้าถึง อาทิ ปัญหาระยะทางที่ห่างไกลระหว่าง รพ.แม่ข่ายที่เป็นศูนย์สำรองยาต้านพิษ และ รพ.ลูกข่าย ปัญหาการคมนาคมที่ไม่สะดวก สภาพภูมิประเทศที่สูงชัน เส้นทางที่คดเคี้ยว ซึ่งการส่งยาต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่อการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ จึงจำเป็นต้องมีศูนย์สำรองยาต้านพิษเพิ่มเติม โดยแบ่งกลุ่มความจำเป็นในการสำรองตามความรุนแรงของโรคและความเร่งด่วนของยา รวมถึงอุบัติการณ์การรับพิษชนิดในพื้นที่ นอกจากนี้ยังให้มีจัดเครือข่ายหน่วยบริการใกล้เคียงเพื่อประสานงานยืมและคืนยาระหว่างหน่วยบริการ

“จากการนำร่องโครงการใน 6 พื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในปีงบประมาณ 2558-2559 พบว่า ใน  พื้นที่มีดำเนินการไปอย่างราบรื่นและเป็นระบบในการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงยาต้านพิษมากขึ้น ซึ่งการสร้างเครือข่ายฯ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ประสานงานและปรึกษากันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน มีการยืมและคืนยาที่รวดเร็วและมีความหลากหลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกิดภาวะพิษให้ได้รับยาต้านพิษอย่างเหมาะสมทันเหตุการณ์ ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเครือข่ายนำร่องฯ อย่างประสบความสำเร็จด้วยดี และเห็นควรให้มีการขยายการจัดตั้งเครือข่ายฯ ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีบริบทแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษเพิ่มขึ้น” ผอ.สำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช. กล่าว