กรมควบคุมโรค ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก หวังลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับตามมาตรการต่างๆ พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2561 ใน 83 โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่กรมควบคุมโรค นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และ ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ”
นพ.สมบัติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับโรคไวรัสตับอักเสบ เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยทั่วไปไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี แต่ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทยคือไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งคาดว่าในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านราย ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 300,000-700,000 ราย สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ประเทศไทยได้ดำเนินการป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2556 โดยรัฐบาลไทยสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหายา Pegylated Interferon และ Ribavirin รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปีละ 3,000 ราย แต่ยามีประสิทธิผลในการรักษาเพียงร้อยละ 60-80 ใช้เวลารักษานานถึง 48 สัปดาห์ และมีผลข้างเคียงสูง ทำให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่าย พยายามจัดหายากลุ่ม Direct Acting Antivirals (DAAs) เช่น Sofosbuvir, Ledipasvir และ Velpatasvir เป็นต้น ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิผลรักษาโรคให้หายขาดสูงมากกว่าร้อยละ 90 มีผลข้างเคียงจากยาต่ำ ใช้เวลารักษาประมาณ 12 สัปดาห์ และในปี 2561 นี้ คณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้บรรจุยาบางชนิดในกลุ่ม DAAs สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว
สำหรับสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2561 นี้ คำขวัญ คือ “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” และขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2561 ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ (รายชื่อ 83 รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฯ https://goo.gl/QZ8Wjb หรือไฟล์แนบด้านล่าง) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ด้าน รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5-8 และไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1-2 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดนโยบายให้ทุกประเทศในโลกร่วมมือกันกำจัดไวรัสให้สิ้นซากในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามให้ความร่วมมือดังกล่าว แต่ปัญหาที่ทั่วโลกต้องเจอคือประชากรไม่ทราบว่าตัวเองเป็นหรือติดเชื้อ เนื่องจากการติดเชื้อเหล่านี้ไม่มีอาการ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อก็ไม่ได้ตระหนักว่าตนเองเป็น จึงเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ ในปัจจุบันอัตราตายสูงสุดของประเทศไทย คือ มะเร็ง ในเพศชายมะเร็งตับพบเป็นอันดับที่ 1 เพศหญิงพบเป็นอันดับที่ 3 แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมะเร็งตับมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของทั้งหญิงและชาย
โดยหลายคนไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นที่ต้องคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ได้รับเลือดก่อนปี 2535 ผู้มีประวัติตับอักเสบ ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งตับหรือมีอายุสั้นจากการตายด้วยมะเร็งตับ ผู้ที่มีการปนเปื้อนเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด เช่น การสัก การเจาะ หญิงตั้งครรภ์ทุกคน คนที่อยู่ในคุก ผู้ที่ใช้สารเสพติด เป็นต้น เมื่อทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง จะได้เข้าสู่ขบวนการรักษา ซึ่งรัฐบาลให้การรักษาฟรีทุกกองทุน หากทุกคนตระหนักและคัดกรองอย่างต่อเนื่องถ้าติดเชื้อก็เข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็สามารถจะเดินไปถึงการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้สิ้นซากได้ในอีก 12 ปีข้างหน้า
ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 นี้ สปสช.ได้กำหนดสิทธิประโยชน์และดำเนินการจัดหายาเพิ่มเติมสำหรับให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอีก 2 สูตร คือ 1.ยาเม็ดรับประทาน Sofosbuvir 400 mg เพื่อใช้ร่วมกับยาฉีด Peginterferon และยาเม็ดรับประทาน Ribavirin สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์ที่ 3 และ 2.ยาเม็ดสูตรผสม Sofosbuvir 400 mg และ Ledipasvir 90 mg สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์อื่นทั้งที่มีหรือไม่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย สูตรยาที่เพิ่มมานี้ จะสามารถลดระยะเวลาในการรักษาลง จาก 24 สัปดาห์ เป็น 12 สัปดาห์ และมีประสิทธิผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าการใช้ยาฉีด Peginterferon และยา Ribavirin สูตรเดิมอย่างเดียว
ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาและกระจายให้กับหน่วยบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่ายาเม็ดทั้งสิ้น 66,360,000 บาท ซึ่งเป็นการจัดหายาระดับประเทศ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและได้ยาในราคาที่ถูกลงกว่ากระจายให้หน่วยบริการจัดหาเอง
สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 สปสช. ได้ดำเนินการจัดเตรียมงบประมาณ เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทั้งสิ้น 155,642,500 บาท และได้เตรียมงบประมาณจัดหายารักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นเงิน 230,555,250 บาท ซึ่งได้วางแผนการจัดหายาดังกล่าวทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหายาตามแผนที่ได้กำหนดไว้ และพร้อมที่จะกระจายยาให้หน่วยบริการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2562 หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
- 37 views