สปสช.- อย.- อภ.- สถานเสาวภา - ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ร่วมมือองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการและสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจัดหาและส่งยาต้านพิษรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน และจัดซื้อจัดหายาเพื่อเตรียมพร้อมใช้ในภาวะปกติ
วันนี้ 8 ธันวาคม 2565 ที่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การประสานงาน สนับสนุนข้อมูล และการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง ศ.กิตติคุณ นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม โดยมี ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารจากหน่วยงานคู่สัญญา ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ จะร่วมกับองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) ดำเนินโครงการบริหารจัดการและสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Initiative for Coordinated Antidote Procurement in South-East Asia Region-iCAPS) เพื่อจัดหายาต้านพิษใน 2 ลักษณะ คือ 1) จัดหาและส่งยาต้านพิษเพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน 2) ร่วมกันจัดซื้อ จัดหายาเพื่อเตรียมให้พร้อมใช้ในภาวะปกติ โดยแต่ละหน่วยงานมีบทบาท ดังนี้
ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะประสานงานระหว่างหน่วยงาน และผู้แทนจาก WHO SEARO สนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญวิชาการด้านพิษวิทยาและเภสัชวิทยาคลินิก เพื่อร่วมวางแนวทางในการบริหารจัดการยาและการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน และการสำรองยาทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน และเป็นที่ปรึกษาในการพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านพิษในผู้ป่วยภาวะพิษฉุกเฉิน ติดตามประเมินผลการรักษา และสถิติที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ได้รับยา รวมถึงกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งหน่วยงานในต่างประเทศไม่สามารถชำระค่ายาได้ศูนย์พิษวิทยาจะเป็นผู้รับผิดชอบ
สปสช. จะจัดทำแผนการจัดหายากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษประจำปี ร่วมกับแผนความต้องการยาในประเทศของเครือข่ายความร่วมมือ และกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่หน่วยงานในต่างประเทศไม่สามารถชำระค่าสินค้าได้ตามกำหนดเวลา จะแจ้งเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และ อภ. ให้ตัดจำนวนยาคงคลังของเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถีออกจากคลังยาตามจำนวน
อภ. จะจัดหายากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ภายใต้แผนการสำรองยาต้านพิษของ สปสช. รวมทั้งดูแลในขั้นตอนการจัดส่งยาทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ถึงผู้รับปลายทางในต่างประเทศ
สถานเสาวภา จะผลิตยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ภายใต้แผนการสำรองยาต้านพิษของ สปสช. และดูแลรับผิดชอบงานขึ้นทะเบียนของยาที่ผลิตโดยสถานเสาวภา รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ ทั้งมาตรฐานการผลิต การประกันคุณภาพ การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และเป็นที่ปรึกษาและร่วมวางแนวทางการบริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ การสำรองยาทั้งในภาวะฉุกเฉินและภาวะปกติ
อย. จะสนับสนุนในการดำเนินการด้านเอกสารประกอบการส่งออกยา หรือพิจารณาสิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าธรรมเนียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกยาตามโครงการฯ และประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกยา
สำหรับกลุ่มยาต้านพิษในความร่วมมือครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 11 รายการ เช่น ผงถ่านกัมมันต์เพื่อดูดซับสารพิษ, ยารักษาภาวะพิษจากโลหะหนัก, ภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย/ภาวะพิษจากไซยาไนด์ /ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์, ยารักษาอาการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อในร่างกาย, ยารักษาโรคคอตีบ, ยารักษาโรคโบทูลิซึ่ม
- 126 views