ในปี 2557 ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าสถานการณ์ในระบบสาธารณสุข อยู่ในสภาวะขัดแย้งที่ร้อนแรงไม่แพ้ภาวะการเมืองของประเทศไทยที่มีการรัฐประหารและได้ก้าวเข้าสู่ยุค คสช.ขณะนี้ สำนักข่าว “Health focus” ได้สรุปไล่เรียงประเด็นร้อนระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้น
“หมอณรงค์” แตกหัก “หมอประดิษฐ”
เมื่อครั้งที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ นั่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขหมาดๆ ช่วงปลายปี 2555 ต้องบอกว่า มี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ.คู่ใจ ออกงานไหนก็มักเห็นเดินควบคู่ แถมยังคล้อยตามนโยบายที่ นพ.ณรงค์ นำเสนอ ทั้งนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P, การเพิ่มประสิทธิภาพบริหารงบ รพ. และการผลักดันเขตบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงคุมการบริหารงบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนนำมาสู่เผชิญหน้าทั้งกับกลุ่มแพทย์ชนบท กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่คัดค้านกับนโยบายเหล่านี้
แต่ในท้ายยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสการขับไล่ทางการเมือง ด้วยสาเหตุใดไม่แน่ชัด นพ.ณรงค์ จึงหันหลังให้กับ นพ.ประดิษฐ แถมยังมีท่าทีแข็งกร้าวแบบที่เรียกว่าทางใครทางมัน แม้จะระบุถึงจุดยืนทางการเมืองที่ขอโดดเข้าร่วม กปปส. ขับไล่รัฐบาล แถมแขวนป้าย “ไม่เอารัฐบาลโกง” นำมาสู่การตอบโต้จาก นพ.ประดิษฐ ตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ทั้งกรณีการหนุนม็อบและใช้งบราชการหนุน แต่ นพ.ณรงค์กลับได้รับการปูนบำเหน็จจากแกนนำ กปปส. ที่นำม็อบเคลื่อนขบวนเข้าให้กำลังใจ พร้อมมอบ “นกหวีดทองคำ” เพื่อเชิดชูตัวอย่างข้าราชการหนุนต่อต้านรัฐบาล
ส้มหล่น “หมอรัชตะ-หมอสมศักดิ์” นั่งเก้าอี้ รมต.สาธารณสุข
จากสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากการจัดตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) มีการคาดการณ์เต็งหนึ่งเก้าอี้ “รมต.สาธารณสุข” รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คงไม่พ้น นพ.ณรงค์ แน่นอน แต่รายชื่อ ครม.ครั้งนี้กลับพลิกโผ ส้มหล่นที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทัพอธิการบดีไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ร่วมกับกปปส. รับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข จากกลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา ที่แม้เคยมีจุดยืนประกาศคัดค้านรัฐประหาร แต่ก็รับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุขได้ โดยระบุว่าเพราะเห็นโอกาสในการทำงานโดยได้รับโปรดเกล้าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ครุกรุ่นระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ยิ่งร้อนแรงเพิ่มขึ้น จากกรณีที่ สธ.ขอให้ สปสช.ยกเลิกการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6, ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนรายบุคคลกรณีล้างไต หรือค่าตอบแทนอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน รวมถึงขอให้ระงับ การจัดซื้อจัดจ้าง งบค่าเสื่อม ในประเด็นที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทักท้วง ที่นำมาสู่การยกเลิก สสจ.เป็น สำนักงานสาขาจังหวัด สปสช. เนื่องจากทั้ง 2 รมต.สาธารณสุข ต่างมีภาพลักษณ์ที่โน้มเอียงทาง สปสช. และแพทย์ชนบท เนื่องจากต่างเป็นศิษย์ของ นพ.ประเวศ วะสี
ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่ความไม่ลงรอยระหว่าง ปลัด สธ. กับ รมต.สาธารณสุข ที่รวมไปถึงทีมงาน รมต.สาธารณสุข ต้องบอกว่าช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะแยกกันเดินสายทำงานแล้ว หากงานไหนมี ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ มักจะไร้เงาปลัด สธ.ที่มักติดภารกิจอื่นเสมอ ในที่นี้รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องบอกว่า นับเป็นปีแรกของ สธ. ที่การตั้งตั้งโยกย้ายยืดเยื้อยาวนาน เพราะจนถึงขณะนี้การแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ลงตัว เนื่องจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำยังตกลงไม่ได้ ตอกย้ำให้เห็นถึงความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
สธ.ชง 4 ข้อเสนอ ปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลง ปี 58
ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ลงตัวนี้ นพ.ณรงค์ ยังเดินหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงการบริหารงบในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อทาง สปสช.เพื่อขอให้ปรับการบริหารจัดสรรงบขาลงในปี 2558 ได้แก่ 1.การโอนงบประมาณจากหน่วยบริการไปยังเขตบริการสุขภาพ สธ. 2.การยุบจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว 9 หมวดย่อย ให้เหลือเพียง 4 หมวด คือ ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และ ม.41 ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุข 3.การปรับเงินเดือนบริหารระดับเขต และ 4.การปรับ KPI เป็นเป้าหมายระดับเขต เพื่อชงเข้าสู่การพิจารณาบอร์ด สปสช. พร้อมกำหนดให้เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคม 2557
จากข้อเรียกร้องนี้ถูกมองว่าเป็นการเดินเกมจาก นพ.ณรงค์ เพื่อดึงอำนาจการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัวจาก สปสช. แม้จะระบุว่าเป็นการนำงบเพื่อไปจัดสรรยังเขตบริการสุขภาพ แต่การบริหารเขตเหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้สำนักงานปลัด สธ. ที่ยังคงมีอำนาจในการสั่งการ ดังนั้นจึงมีการคัดค้านเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วย อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามงานนี้เป็นไปตามคาดเพราะหลังจากที่มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. ทั้งในเดือนกันยายนและธันวาคมที่ผ่านมาซึ่ง นพ.ณรงค์ ได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง หลังจากที่บอยคอตไม่เข้าร่วมในช่วงหลายเดือนเพื่อรุกในกระดานสุดท้าย โดย บอร์ด สปสช. ยังคงไม่รับหลักการ และหาทางออกด้วยการศึกษานำร่องการปรับวิธีจัดสรรงบตามข้อเสนอ สธ.ในเขต 2 และ 10 เพื่อนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
เปิดข้อมูล สปสช.บริหารงบบัตรทองทำ รพ.ขาดทุน
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้ส่งผลให้ความขัดแย้งในช่วงปลายปียิ่งทวีความเข้มข้น ซึ่งในวันถัดมา ปลัด สธ.ได้เปิดแถลงข่าวถึงวิธีการบริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. ที่ส่งผล รพ.ในสังกัดถึง 105 แห่ง ต้องประสบภาวะขาดทุนวิกฤตระดับ 7 พร้อมเปิดข้อมูลการจัดสรรงบ สปสช. ที่ได้กระจายให้กับหน่ยวงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการ โดยเฉพาะกลุ่มพวกพ้อง อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น
งานนี้ร้อนจน สปสช.ต้องเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. นำทีมชี้แจงการบริหารด้วยตนเอง โดยเฉพาะประเด็นการให้งบประมาณไปยังหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการที่ยืนยันว่าเป็นในส่วนงบสนับสนุนการจัดบริการที่มีอัตราน้อยมาเพียงร้อยละ 0.5 พร้อมเปิดข้อมูลการนำเสนอของ สธ.ที่นอกจากผิดขั้นตอนและข้อมูลไม่ครบถ้วนแล้ว ยังใช้วิธีลักไก่เพื่อให้บอร์ด สปสช.มีมติ และนำไปสู่การออก “สมุดปกขาวเพื่อชี้แจงการบริหารงบ” รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ.เป็นประธาน เพื่อหาสาเหตุ รพ.ขาดทุน ซึ่งในท้ายที่สุด คกก.ชุดนี้ต้องล้มไป เนื่องจากไม่มีกรรมการตัวแทนจากฝั่ง สธ.เข้าร่วม เป็นเหตุให้ นพ.ยุทธ ประกาศลาออกจากการทำหน้าที่ประธาน
ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปยัง ศ.นพ.รัชตะ รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการบริหาร ทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทั้ง 2 หน่วยงาน จึงควรทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดในการแก้ไขปัญหานี้ ก่อนที่ความขัดแย้งจะร้าวลึกลงไปในพื้นที่และการบริการประชาชน ซึ่งขณะนี้ในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว
ขัดแย้งส่งท้ายปี รพศ./รพท. บอยคอยสปสช.
และล่าสุดกับความขัดแย้งส่งท้ายปี ที่ไม่ปล่อยให้พักหายใจ เมื่อ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ออกหนังสือสรุปมติการประชุมร่วมกับชมรมสาธารณสุขจังหวัด ว่า จากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปฏิเสธข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้แก้ปัญหาเงินเหมาจ่ายรายหัว หลังงบเหลือลงพื้นที่ไม่ถึง 60% และการบริหารงานของสปสช.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตกแต่งบัญชี และเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรบางแห่งเพื่อหมุนเวียนในพรรคพวก
ทั้งสองชมรมจึงได้ออกมาตรการ 3 ข้อ เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับ สปสช. ได้แก่
1.งดเข้าร่วมกิจกรรมทุกชนิด ทุกระดับที่เกี่ยวกับ สปสช.
2.งดส่งข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับหมวดงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.
และ 3. นำข้อมูล ข้อเสนอ ข้อสงสัยให้ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยได้ส่งข้อมูลไปยังกรมบัญชีกลาง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลปกครองแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้ออกแนวปฏิบัติมาตรการหยุดส่งข้อมูลให้ สปสช. โดยให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด สธ. งดนำส่งข้อมูลรายบุคคลตามมาตรฐาน 43 แฟ้ม สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และงดส่งข้อมูลจากโปรแกรม e-claim สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยให้ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และให้ สสจ. ส่งข้อมูลไปยังสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด สธ.ตามเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน
“เขตสุขภาพ สธ.” ลักไก่สู่ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน”
การจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดการผลักดันในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากความพยายามผลักดันเขตบริการสุขภาพที่นำไปสู่ข้อเสนอการปรับวิธีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าจะเป็นการรวบอำนาจการบริหาร ขาดการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจังหวะการนำเสนอจัด “ตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ของทางสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้การผลักดันของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. จนสำเร็จ และมีการตั้งคณะกรรมการซึ่งมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา เป็นประธาน
ทั้งนี้แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการ โดยเฉพาะการระดมความเห็นในร่างเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เพื่อนำไปสู่รูปแบบดำเนินงานที่ชัดเจน และได้มีการระดมความเห็นครั้งสุดท้าย ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ที่ผ่านมา แต่การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าขาดรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ ที่ต่างจากเขตบริการสุขภาพของ สธ.ที่ยังมีความชัดเจนมากกว่า ทั้งบางเขตสามารถดำเนินการได้ดี มีประสิทธิผลในทางบริหารจัดการจนเป็นที่ยอมรับ ซึ่งคงต้องรอดูการเดินหน้าเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต่อจากนี้
ปลด บอร์ด อภ.- ผอ.อภ. เด้ง ผอ.สวรส.
ข่าวการปลดคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน รวมถึงการปลด นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ออกจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ต้องบอกว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงในปี 2557และไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารหน่วยงานนี้มักถูกปรับเปลี่ยนไปตามการเมืองเสมอ ประกอบกับการบริหารที่มีช่องโหว่ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาวิกฤตยาขาดทั้งในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์และยาละลายลิ่มเลือดที่ระบบการสำรองยามีปัญหา การยกเลิกผลิตยาที่จำเป็น อย่างยาเบาหวาน ความดัน และปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาตที่ไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้ 8 เครือข่ายสุขภาพเข้ายื่นหนังสือต่อ คสช.ที่นำไปสู่การปลดออกจากตำแหน่งในที่สุด และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการแต่งตั้งบอร์ด อภ.ชุดใหม่ รวมไปถึงการสรรหา ผอ.อภ.คนใหม่ ซึ่งคงต้องรอดูว่า ในยุคนี้ใครจะได้เข้ามานั่งบริหารแทน
เช่นเดียวกับการประกาศปลด นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล จากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) งานนี้กระทบ นพ.สมศักดิ์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยให้เหตุผลถึงประสิทธิภาพการทำงานรวมถึงพฤติกรรมการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ นพ.สมเกียรติ ได้ออกมาระบุถึงเหตุผลการถูกสั่งปลดครั้งนี้ เนื่องจากได้ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการบริหารรวมไปถึงการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษและโบนัสของอดีต ผอ.สวรส. พร้อมกันนี้ย้งได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ป.ป.ช. ปปท. และนายกรัฐมนตรี ตลอดจน คสช. เพื่อขอให้คุ้มครองพยาน ซึ่งล่าสุดทาง ปปช.ได้รับเรื่องให้คุ้มครองพยานแล้ว
อย่างไรก็ตามการสั่งปลดผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ถูกมองว่า เป็นเพียงแค่การล้างขั้วอำนาจเก่า เพื่อเปิดทางให้คนของฝ่ายตนเองเข้ามาทำหน้าที่บริหารแทน ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดูกันต่อไป
“ดร.สุกรี” ใส่ปี๊บคลุมหัว ประท้วง “หมอรัชตะ” นั่ง 2 เก้าอี้
ส่วนข่าวร้อนในระบบสาธารณสุขปีที่ผ่านมา ไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ และเป็นสีสันอย่างมาในแวดวงข่าวสาธารณสุข คือข่าวการนั่งควบเก้าอี้ของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน แม้ว่าบุคลากรในระบบสาธารณสุขจะรู้สึกยินดี เมื่อครั้งทราบว่า ศ.นพ.รัชตะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้มานั่งเก้าอี้ รมว.สธ. บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะด้วยดีกรีระดับอาจารย์แพทย์ทำให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
แต่ด้วยอายุราชการตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลที่ยังคงเหลือ ส่งผลให้ ศ.นพ.รัชตะ เลือกนั่งควบบริหาร 2 ตำแหน่ง แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านถึงความเหมาะสม รวมถึงผลกระทบต่อประสิทธิภาพการบริหารที่อาจเกิดขึ้นทั้ง 2 หน่วยงาน กลายเป็นที่มาของการทวงถามถึงจริยธรรมและธรรมาภิบาลในระดับอาจารย์แพทย์ รวมไปถึงการประท้วงคัดค้านเชิงสัญลักษณ์ “ใส่ปี๊บคลุมหัว” ในเข้าร่วมประชุมคณบดีมหาวิทยาลัย ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จนเป็นที่ฮือฮา และกลายเป็นข่าวดังระดับประเทศ กระทั่ง นพ.รัชตะ ต้องเลือกตำแหน่งเดียว
ม๊อบบุคลากรสธ. ร้องขอความเป็นธรรม สู่ข้อเสนอ ออกนอก ก.พ.
ปี 2557 ต้องนับว่าเป็นปีแห่งสารพัดม๊อบของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาเรียกร้องให้สธ.แก้ไข ปัญหาของวิชาชีพ ที่มีตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ ที่ส่วนใหญ่ตีชิ่งกระทบไปยังวิชาชีพแพทย์ที่ดูเหมือนจะได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยมอยู่ในวิชาชีพเดียว ตั้งแต่ค่าตอบแทนที่ห่างกันมาก ไปจนถึงการบรรจุเป็นข้าราชการ ม๊อบเหล่าพยาบาลลูกจ้าง ทำงานหนัก เงินเดือนน้อย แต่วิชาชีพไม่มั่นคง ไปจนถึงสารพัดวิชาชีพที่ดาหน้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม การบรรจุข้าราชการเพิ่มทั้ง 3 ครั้งก็ยังไม่ราบรื่น มีบางวิชาชีพที่ต้องโวยเพราะถูกมองข้าม กลุ่มที่จบจากสถาบันนอกสมทบไม่ได้รับการดูแล กลุ่มข้าราชการที่บรรจุรอบแรกไปแล้ว แต่ปรากฎว่าได้รับความไม่เป็นธรรมบางประการ รวมไปถึงกลุ่มลูกจ้างสายสนับสนุน ที่เปรียบพวกเขาว่าเป็นชนชั้นระดับล่างของบุคลากรสธ.ที่ไม่ได้รับการเหลียวแล แม้สธ.จะประกาศขึ้นเงินเดือนให้ แต่เงินเดือนที่อิงอยู่กับเงินบำรุงรพ.ก็ทำให้ไม่เชื่อใจว่าจะได้รับจริง อีกทั้งจำนวนเงินเดือนที่ขั้นให้ก็ยังไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำ
ปัญหาต่างๆเหล่านี้ นำมาสู่ข้อเสนอที่เคยเสนอมาหลายครั้ง แต่ไปไม่ถึงไหน นั่นคือ ให้กระทรวงสาธารณสุขออกนอก ก.พ. ซึ่งจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ปี 2558 นี้ต้องติดตามว่า สวรส.ที่รับหน้าเสื่อดำเนินการทางวิชาการด้านนี้จะมีข้อเสนอใหม่ๆอะไรออกมาบ้าง
ทั้งนี้จากสถานการณ์ข่าวสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในรอบปี 2557 ไม่ผิดนักที่จะบอกว่า นี่เป็นปีแห่งความขัดแย้ง แตกแยกในระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรง เป็นความขัดแย้งข้ามปี ที่หลายประเด็นยังคงน่าสนใจและมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องที่น่าติดตามในปี 2558 นี้ โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขที่ต้องรอดูจากนี้
- 125 views