กระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดออกตรวจเตือนผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด หากพบฝ่าฝืนลงโทษผู้กระทำผิดอย่างไม่ละเว้น เพื่อลดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ ผลการออกตรวจในรอบ 3 วัน ที่จังหวัดชลบุรีนครนายก กทม.และปริมณฑล ตรวจ 207 ราย พบกระทำผิดกฎหมายและดำเนินคดี 59 ราย ตักเตือนอีก 148 ราย มากที่สุดคือการโฆษณาสื่อสารการตลาด รองลงมาคือขายโดยไม่มีใบอนุญาต ขอประชาชนช่วยกันดูแลหากพบผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่นขายหรือดื่มเหล้าในสถานที่ห้าม ขายในเวลาต้องห้าม โฆษณาส่งเสริมการขาย แจ้งได้ที่กรมควบคุมโรค 0 2590 3342 ตลอด 24 ชม.
30 ธ.ค.57 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุจราจรช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2558 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรให้มีน้อยที่สุด เน้นการป้องกันสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจร ที่สำคัญคือ “เมาแล้วขับ” ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 โดยให้เจ้าหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตรวจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในร้านค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขอความร่วมมือประชาชนร่วมสอดส่องเฝ้าระวังปัญหาหากพบผู้กระทำผิดให้แจ้งที่หมายเลข 0 2590 3342 ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ กรมควบคุมโรค ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและตำรวจ ผลการออกตรวจในรอบ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 27-29 ธันวาคม 2557 ที่จังหวัดชลบุรี นครนายก กทม.และปริมณฑล ตรวจทั้งสิ้น 207 ราย พบกระทำผิดกฎหมายและดำเนินคดี 59 ราย และตักเตือนประชาสัมพันธ์ 148 ราย โดยอันดับ 1 คือการโฆษณาสื่อสารการตลาด 36 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รองลงมาคือ ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 14 รายมีโทษปรับไม่เกิน 500-2,000 บาท ขายในสถานที่ต้องห้าม ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน สถานที่ราชการ 8 ราย และขายด้วยวิธีการต้องห้ามได้แก่การเร่ขาย ลดแลกแจกแถม 5 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด 5 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บริโภคในสถานที่ต้องห้าม 2 รายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเจ้าหน้าที่จะออกตรวจอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 วันอันตราย และเพิ่มเป็น 5 ทีม ไปที่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน-ตอนล่าง กทม.และปริมณฑล
“จากการออกตรวจมีคดีที่น่าสนใจพบว่า ลานเบียร์ในงานเคาต์ดาวน์ที่แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ กระทำผิดกฎหมายหลายมาตรา โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นการโฆษณาที่ต้องห้ามตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง และมีการลักลอบจำหน่ายในสถานที่สาธารณะและสถานที่ที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งขายสุราเถื่อน เพราะไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุราต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจและเทศกิจจำนวนมากที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และมาปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนที่นครนายกพบมีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ ซึ่งเข้าข่ายสวนสาธารณะของราชการคือในสถานที่ที่กรมชลประทาน จัดให้ประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจบนสันเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งนอกจากผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายอย่างมากทั้งทางการจราจรขับรถขึ้นลงที่สูงและการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ ซึ่งจะประสานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เข้มงวดเพิ่มขึ้น” นพ.โสภณกล่าว
- 55 views