สธ.โต้ 3 เดือนไร้ผลงานแก้ปัญหาขัดแย้งภายในกระทรวงฯ ระบุกำลังเร่งแก้ไขเป็นขั้นตอน ย้ำเดินหน้าตามนโยบายนายกฯ วางแผนงานสาธารณสุขระยะยาว ยกผลงานของขวัญปีใหม่ งานรูทีนเป็นผลงานเด่น ทั้งคุมโรคอีโบลา ปรับเกณฑ์การจ่ายยาต้านไวรัสเอดส์ จ่อดันออก กม.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคปีหน้า รมว.สธ.มอบ ปลัดดูแลรพศ./รพท.ไม่ส่งข้อมูลเบิกเงินให้สปสช. ด้านปลัดเชื่อไม่กระทบบริการประชาชน

26 ธ.ค.57 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. อธิบดีกรมต่างๆ และผู้บริหารระดับสูง ร่วมกันเปิดมหกรรมการแสดงผลงาน สธ.ในรอบ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. - 12 ธ.ค. 2557 หลังจากที่รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ
       
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า นายกฯ มอบนโยบายการดำเนินงานคือต้องทำทันที ทำจริงจัง และต้องวางแผนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงบริการ สธ.จึงรับเอานโยบายสุขภาพดังกล่าวมาแปลงเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงฯ 10 เรื่อง ซึ่งความคืบหน้าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ก็ปรากฏออกมาในรูปของของขวัญปีใหม่ที่เคยแถลงไปแล้ว คือ โครงการฟันเทียมพระราชทาน รากฟันเทียมพระราชทาน การตั้งทีมหมอครอบครัวมาดูแลสุขภาพประชาชน เป็นต้น รวมไปถึงการบูรณาการงานข้ามกระทรวงเพื่อดูแลคนไทยทั้งชีวิตตั้งแต่การพัฒนาการในวัยเด็ก ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยในระยะท้าย ซึ่งเป็นงานในส่วนพัฒนาระบบบริการ
       
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ส่วนผลงานด้านป้องกันควบคุมโรคคือ จัดระบบเฝ้าระวังโรคอีโบลา เปลี่ยนเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยสามารถให้ได้ทันทีโดยไม่คำนึงถึงค่าระดับภูมิต้านทาน (CD4) ด้านความโปร่งใสขององค์กร โดยการออกระเบียบฯ การบริหารจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา สร้างเคือข่ายเฝ้าระวังทุจริต ขณะที่ด้านการออกกฎหมายได้ทำร่างกฎหมาย 9 ฉบับ ทั้งร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 ฉบับ
       
"ทั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินงานต่อในปีหน้าจะเน้นงานการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เช่น กฎหมายควบคุมการตลาดนมและอาหารสำหรับเด็กและทารก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคนมแม่เพิ่มมากขึ้น และจะเร่งสร้างโรงงานวัคซีนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี รวมไปถึงการจัดหาวัคซีนใหม่ๆ เพิ่มเติม" รมว.สาธารณสุข กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาใน สธ.ยังรอรับการแก้ไขอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องค่าตอบแทน การบรรจุข้าราชการ รวมไปถึงความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้หลายฝ่ายมองว่ายังไม่มีผลงานที่ชัดเจน ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็พยายามดำเนินการแก้ไขเป็นขั้นตอน ก็จะมีการปรึกษาหารือกับทีมที่ปรึกษาที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อหาทางออก
       
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีผลงาน แต่สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ก็คือ ทำตามนโยบายของนายกฯ คือ วางแผนการทำงานในระยะยาว จะเห็นได้ว่าผลงานในช่วง 3 เดือนนี้ก็จะเป็นส่วนที่วางแผนไว้สำหรับการเดินหน้าต่อในระยะยาวต่อไป เช่น เรื่องตั้งทีมหมอครอบครัว ที่จะมาปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพคนไทยต่อไป ทำให้อาจมองว่าผลงานยังไม่ชัดเจน
       
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะไม่ส่งข้อมูลงบบัตรทอง อาทิ ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และส่งเสริมสุขภาพแก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นหรือไม่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า มอบเรื่องนี้ให้ปลัด สธ.ดูแล แต่จะไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเรื่องนี้ก็ต้องพยายามแก้ไข เพราะข้อมูลที่จะไหลไปยัง สปสช.เป็นสิ่งสำคัญ
       
เมื่อถามว่า รพศ./รพท.และ สสจ.ส่วนที่จะไม่ส่งข้อมูลจนกว่าบอร์ด สปสช.จะสนใจเรื่องการปรับเกณฑ์การจัดสรรงบบัตรทองนั้น ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า คงต้องให้บอร์ด สปสช.ไปหารือ
       
ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ทาง รพศ./รพท. และ สสจ.ยังไม่ได้มาพบเพื่อหารือในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม คงต้องมาพูดคุยหารือกัน ส่วนการไม่ส่งข้อมูลไปยัง สปสช.จะกระทบงานบริหารหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่งานบริการประชาชนไม่กระทบแน่นอน เพราะคงไม่มีใครเอาผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นตัวประกัน