ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ระหว่างการที่จะยื่นเข้าสู่การพิจารณาในสภานิติบัญญัติ ถ้ามีการประกาศออกมาใช้ จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์มาก แพทย์หลายท่านคัดค้านกฎหมายนี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้ศึกษาให้ดีพอ ถ้าได้ตั้งใจศึกษาอย่างจริงจังจะพบว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขช่วยแพทย์ทุกมาตรา

หลักการ

หลักการของกฎหมายนี้คือเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลแล้วเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการชดเชยเยียวยาจากกองทุนอย่างเหมาะสมตามปริมาณความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องฟ้อง แพทย์ไม่ถูกพิสูจน์ความผิด แพทย์ไม่ต้องจ่าย กองทุนจ่ายแทนแพทย์

ข้อโต้แย้ง

แพทย์บางส่วนยังหวาดระแวงว่าจะไม่พิสูจน์ความผิดจริงหรือ แล้วทำไมต้องมีการขอเอาเอกสารเวชระเบียนมาดู กลัวว่าแพทย์จะต้องมีส่วนจ่ายเงินเข้ากองทุน กลัวว่ารับเงินแล้วยังฟ้องต่อได้ ทำไมไม่ระบุในกฎหมายไปเลยว่าห้ามฟ้องแพ่งฟ้องอาญาต่อไป กรรมการทำไมจึงมีเอ็นจีโอเยอะ แต่แพทย์น้อย ทำไมอายุความนานมากถึง 10 ปี แล้วทำไมต้องสะท้อนกลับมาตรการเพื่อความปลอดภัย เป็นการจับผิดลงโทษแล้วจะบอกว่าไม่พิสูจน์ความผิดได้อย่างไร

ขอเรียนว่า ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของความหวาดระแวง เป็นการคาดการณ์ไปเองว่าแพทย์จะโดนโน่นนี่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นอกจากช่วยผู้ป่วยให้ได้รับการชดเชยเร็วและพอเพียงแล้ว กฎหมายนี้ช่วยแพทย์ทุกมาตรา ไม่มีข้อเสียเลย มีข้อเสียเพียงอย่างเดียวคือรัฐบาลเสียเงิน แต่เป็นการบรรเทาทุกข์โดยรัฐ รัฐบาลไม่เจ๊งหรอกครับ ไม่เกินพันล้านต่อไป

แพทย์ไม่ถูกพิสูจน์ความผิด มาตรา 5 แสดงเจตนาของกฎหมายว่าไม่พิสูจน์ความผิด ไม่มีกฎหมายมาตราไหนบอกว่ามีการพิสูจน์ความผิด ไม่ต้องพิสูจน์ว่าแพทย์ประมาทหรือไม่ ไม่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นความผิดพลาดจากระบบของโรงพยาบาลหรือไม่ กรรมการจะเรียกเวชระเบียนมาดูเพียงว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดจากการรักษาพยายาล ไม่ใช่เหตุอื่น เช่น ฟ้าผ่าตาย กองทุนจะไม่จ่ายถ้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย

กองทุนจ่ายชดเชยทุกกรณียกเว้นเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากโรคเอง มาตรา 6 เป็นเงื่อนไขที่บอกว่าให้จ่ายเฉพาะกรณีเหตุที่ป้องกันได้หรือหลีกเลี่ยงได้ เป็นการช่วยแพทย์ที่รักษาคนไข้แล้วเกิดความผิดพลาด ไม่ว่าจะประมาทหรือไม่ประมาทก็ตาม แค่ดูว่าเป็นเหตุที่ป้องกันได้แล้วไม่ได้ป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงได้แล้วไม่หลีกเลี่ยง ก็ให้กองทุนจ่ายทั้งสิ้น เพื่อแพทย์จะได้ไม่ถูกฟ้อง กองทุนจ่ายแทนแพทย์ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คือแพทย์ไม่ประมาท รวมถึงเหตุสุดวิสัย และที่เป็นไปตามการดำเนินของโรคหรือพยาธิสภาพของโรค เช่น โรคมะเร็งทำให้คนไข้ตาย เป็นต้น กรณีนี้กองทุนไม่จ่าย แต่ถึงกองทุนไม่จ่าย ถึงคนไข้ไปฟ้อง แพทย์ก็ไม่ผิด

สรุปว่ากองทุนจ่ายแทนแพทย์ ไม่ว่าแพทย์จะประมาทหรือไม่ประมาท หรือเป็นจากเหตุอื่น เช่น ระบบโรงพยาบาลไม่ดี กองทุนจ่ายแทนแพทย์ทั้งหมด

กองทุนจ่ายเยอะๆ คนไข้เพียงพอก็ไม่ฟ้องผลดีต่อแพทย์ ถ้าเปรียบเทียบกับการช่วยเหลือเบื้องต้นในปัจจุบัน ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทุกคนรู้แล้วว่าช่วยแพทย์ได้ โดยยกมาไว้ในร่างกฎหมายนี้ แต่มาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันนั้นยังช่วยเหลือคนไข้ไม่ได้มาก ให้เพียงวงเงินไม่เกิน 4 แสนบาท ต่อให้เพิ่มเป็น 1 ล้าน หรือ 2 ล้านบาทก็ยังไม่มากพอ ไม่สามารถป้องกันการฟ้องร้องได้ คนไข้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วยังไม่พอเพียงจึงฟ้องแพทย์ แต่การชดเชยในมาตราต่อมาให้พิจารณาชดเชยให้เพียงพอ ที่ร่างกฎหมายกำหนดให้พิจารณาตามรายการในประมวลแพ่งคือ ค่ารักษา ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดหน้าที่การงาน รวมถึงค่าเสียใจทุกข์ทรมาน เพื่อให้กองทุนจ่ายให้ครบให้พอเพียงกับความเสียหาย เพราะถ้าคนไข้ฟ้องศาลซึ่งต้องมีการพิสูจน์ว่าแพทย์ผิดก่อน ศาลก็จะพิจารณาเงินชดเชยให้แพทย์จ่ายตามรายการนี้ในประมวลแพ่งเดียวกัน แต่ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ถ้ากรรมการพิจารณาให้แล้วอาจจะหลายล้าน กองทุนจ่าย แพทย์ไม่ต้องจ่าย ไม่มีการพิสูจน์ว่าหมอผิดแต่อย่างใดเลยครับ

ที่มากองทุนรัฐจ่าย แพทย์ไม่ต้องจ่าย ทีนี้มาดูเรื่องที่มาของกองทุน จะพอจ่ายหรือปล่า ต้องเรียกจากแพทย์หรือไม่ ไม่มีการเรียกจากแพทย์เข้ากองทุนนะครับ กฎหมายไม่ได้ให้เรียกจากแพทย์ กฎหมายลายลักษณ์อักษรต้องตีความอย่างแคบ จะไปคิดเอาเองว่าเขาหลอก หลอกไม่ได้อยู่แล้วครับ มาตรา 19 บอกว่า ที่มาของเงินคืองบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชนทั้งแผ่นดินมาจ่ายแทนแพทย์นะครับ โดยตัดจากงบรายหัวของทั้ง 3 กองทุนมาอย่างละ 1% มีกฎหมายบัญญัติว่า ให้สถานพยาบาลเอกชนสมัครใจสมทบเข้ากองทุนได้ สมัครใจ ไม่ใช่บังคับครับ กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน กฎหมายบัญญัติให้เงินกองทุนมาจาก 1% ของค่ารายหัวของทั้งสามกองทุน เช่น 2,900 บาทต่อหัว 1% ก็เท่ากับ 29 บาท คูณ 65 ล้านคน มากกว่า 1,400 ล้านบาทต่อปี ปกติแล้วคนไข้ได้ยื่นเรียกร้องจาก มาตรา 41 กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นจากปีแรกคือ พ.ศ.2546 จำนวน 9 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็นปีละไม่ถึง 100 ล้านบาทต่อปี ยังห่างไกลจาก 1,400 ล้านบาท มากเพียงพอที่จะไม่ต้องมาเก็บกับแพทย์และโรงพยาบาล ด้วย

กฎหมายนี้ มาตรา 18 มาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติอีกว่า ถ้ากองทุนไม่พอจ่ายก็ให้จัดสรรงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนมาเข้ากองทุน แปลว่าเกิน 1,400 ล้านบาทต่อปี ก็ให้รัฐบาลจ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนมาเพิ่มให้อีกได้ตามความจำเป็น ไม่ได้จำกัดวงเงินไว้ครับ เป็นปลายเปิด ไม่มีมาตราไหนให้เก็บเงินจากแพทย์ ถ้า รพ.ไหนสมัครใจจ่ายสมทบเข้ากองทุนแล้วไปเรียกเอากับแพทย์ แพทย์ต้องโวย รพ.ครับ

แพทย์ต้องซื้อประกันต่อไป เมื่อกองทุนจ่ายแทนแพทย์แล้ว แพทย์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อประกันวิชาชีพ ปัจจุบันเบี้ยประกันคนละ 1 หมื่น สำหรับทุนประกัน 1 ล้านบาท และเบี้ยประกัน 2 หมื่นบาท สำหรับทุนประกัน 2 ล้านบาท ทุนประกันอาจไม่เพียงพอกับที่ศาลตัดสิน แพทย์ต้องจ่ายเพิ่มเติม แพทย์ที่รักษาคนไข้ตีว่า 3 หมื่นคน ต้องให้ประโยชน์แก่บริษัทประกันถึง 600 ล้านบาทต่อปี แต่ศาลตัดสินให้แพทย์และ รพ.จ่ายปีละไม่ถึง 20 ล้านบาท ที่เหลืออีก 580 ล้านบาทบริษัทประกันกินฟรี

รับค่าชดเชยแล้วยุติคดี มาตรา 24 บอกว่า ถ้ารับเงินก็ให้ผู้เสียหายหรือทายาททำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการยุติคดีแพ่งอย่างสิ้นเชิงครับ ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องรับเงิน ไม่ใช่รับเงินแล้วยังฟ้องต่อได้เหมือนมาตรา 41 กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งรับเงินแล้วยังฟ้องต่อได้ อันนี้ถ้ารับเงินแล้วฟ้องต่อไม่ได้ครับ

เพื่อนผมถามว่า ในมาตรา 24 รับเงินต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความ...เขียนเพิ่มว่าไม่ฟ้องแพ่งต่อไปชัดๆ ไม่ได้หรือ ขอเรียนว่ามีบัญญัติแล้วในกฎหมายหลักครับ ยุติคดีแน่นอน การที่บัญญัติว่ารับเงินต้องทำสัญญาไว้ถูกต้องแล้วครับ ถ้าไปฟ้องศาลจะยกฟ้องครับ ตามสัญญาประนีประนอม ข้อพิพาทเก่าต้องยุติแล้วให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมแทนครับ เช่น ถ้าในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุให้ รพ.ต้องทำกายภาพบำบัดให้ตลอดชีวิตด้วย ถ้า รพ.ไม่ทำให้ คนไข้จะฟ้องตามสัญญาประนีประนอม คือฟ้อง รพ.ว่าไม่ทำให้ แต่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยความเสียหายเดิมไม่ได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852

ใจความสำคัญคือ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ คือทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละได้ระงับลง และได้รับสิทธิใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความ

ยื่นคำร้องมากขึ้นไม่ใช่ฟ้องมากขึ้น

การที่คาดการณ์ว่าแพทย์จะถูกฟ้องจะเยอะขึ้น น่าจะตรงข้าม ฟ้องน้อยลงแน่ๆ ซึ่งก็ดีสำหรับแพทย์อีก ให้คนไข้ไปยื่นเรียกจากกองทุนย่อมดีกว่าคนไข้ไม่ไปเรียกจากกองทุน แต่มาเรียกจากแพทย์ แล้วฟ้องแพทย์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม แพทย์จึงต้องรับแจ้งคนไข้ให้ยื่นเอกสารขอชดเชยจากกองทุน แพทย์พยายามยื่นแทนคนไข้เพื่อแพทย์จะได้ไม่ถูกฟ้อง คำว่าคนไข้จะมาร้องมากขึ้นเป็นสิ่งดี แต่ถ้าไม่ยื่นร้องจากกองทุน แต่มาฟ้องมากขึ้นนี่สิแพทย์จึงเดือดร้อน

ระยะเวลายื่นคำร้องสั้นไป ประเด็นที่ว่าอายุความยาวไม่จำกัดเวลา ไม่มีในร่างกฎหมาย กฎหมายมาตรา 27 บอกว่า ให้ยื่นเรื่องร้องภายใน 10 ปี อันนี้ไม่เรียกว่าอายุความเพราะยังไม่ได้เป็นความกัน ต้องเรียกว่าระยะเวลา ผมว่ายังน้อยไปเพราะอายุความฟ้องแพ่งตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคบัญญัติไว้ไม่เกิน 10 ปีเช่นกัน ส่วนฟ้องอาญามีอายุความกรณีประมาท 15 ปีครับ มีกฎหมายวิอาญาบอกว่าถ้าฟ้องอาญาด้วย แพ่งด้วย ให้แพ่งมีอายุความตามคดีอาญา ทีนี้ลองคิดดูนะครับว่าถ้าผลเสียหายเพิ่งรู้เมื่อเวลาผ่านไปเกิน 10 ปีแล้ว คนไข้จะเรียกค่าชดเชยต้องไปฟ้องอาญาด้วย ฟ้องแพ่งด้วย แม้อายุความแพ่งจะหมดแล้ว แต่อายุความอาญาซึ่งยาวกว่าจะยืดอายุความแพ่งให้ไม่หมดอายุด้วย แต่จะมาใช้สิทธิยื่นขอให้กองทุนจ่ายแทนแพทย์ไม่ทันแล้ว ถ้ากำหนดอายุความมากกว่านี้จะดีกว่า

กรรมการกองทุนไม่ต้องมีแพทย์ก็ได้ จากข้อโต้แย้งที่ว่ากรรมการกองทุนมีสัดส่วนแพทย์น้อย ส่วนใหญ่เป็นเอ็นจีโอนั้น ความจริงก็ดีแล้ว ถ้าจะให้ดีกว่านี้ไม่ต้องมีแพทย์เลยยิ่งดี เพราะเขาระบุแล้วว่าไม่มีการพิสูจน์ เขาจะดูแค่ว่าเป็นจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เป็นจากโรคเองหรือไม่ หรือไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเลย เหล่านี้กองทุนจะไม่จ่ายนอกนั้นจ่ายหมด และกรรมการก็จะพิจารณาว่าจะให้ชดเชยเท่าใด

ยิ่งให้เยอะยิ่งดีกับแพทย์ คนไข้พอใจก็ไม่ไปฟ้องแพทย์

การสะท้อนกลับเพื่อพัฒนามาตรการเพื่อความปลอดภัย มีคนถามว่าทำไมต้องมีการสะท้อนกลับด้านความปลอดภัยไปยัง รพ. เป็นการจับผิดหรือเปล่า ไหนว่าไม่พิสูจน์ความผิด

ไม่ใช่การจับผิดหรือพิสูจน์ความผิด และไม่เกี่ยวกับการพิจารณาว่าจะจ่ายเงินชดเชยหรือไม่ จ่ายเงินชดเชยจากกองทุนไปแล้ว จึงจะสะท้อนด้านความปลอดภัยครับ Medical error เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องแพทย์ประมาทเสมอไป เช่นระบบที่ไม่ปลอดภัย เพื่อการพัฒนาไม่ใช่เพื่อลงโทษ

มาตราการเพื่อความปลอดภัยร่างกฎหมายนี้บัญญัติไว้สามมาตรา มาตรา 29 ให้มีการสะท้อนปัจจัยเสี่ยงด้านความปลอดภัยไปยังโรงพยาบาล เพื่อให้พัฒนาคุณภาพไม่ให้เกิดซ้ำอีก

มาตรา 31  ให้ รพ.ส่งแผนพัฒนาให้กรรมการกองทุน ถ้าเห็นแผนพัฒนาแล้วกองทุนจะลดอัตราเงินสมทบเงินเข้ากองทุนด้วยครับ ซึ่งเป็นคุณต่อ รพ.

มาตรา 30  ให้กองทุนจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพประจำปีเพื่อให้ รพ.ต่างๆ มีโอกาสพัฒนาด้านความปลอดภัย โดยกองทุนสนับสนุนการพัฒนา หมายความว่ากองทุนออกเงินให้ รพ.พัฒนาความปลอดภัยด้วย เป็นผลดีกับแพทย์ที่จะได้รักษาคนไข้ในระบบที่ปลอดภัยมากขึ้น

ร่าง พ.ร.บ.นี้จะช่วยคนไข้ที่เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาโดยไม่ต้องฟ้อง แพทย์ไม่ถูกพิสูจน์ความผิด มีกองทุนจ่ายแทนแพทย์ และมีการสะท้อนกลับให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อความปลอดภัย win-win ไม่ดีหรือครับ ใครช่วยตอบสิว่าไม่ดีตรงไหน เกิดผลร้ายต่อแพทย์ตรงไหน

ผู้เขียน : นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย อดีตกรรมการแพทยสภา

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 ธ.ค. 2557