นสพ.ไทยรัฐ : ปมปะทะขัดแย้งระหว่างกระทรวง สาธารณสุข (สธ.)กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูจะร้าวลึก เดินหน้าคู่ขนานในการแก้ปัญหา ยากที่จะหาจุดบรรจบได้
ความเคลื่อนไหวล่าสุด...เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนัดแรก ภายหลังจากที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน
การประชุมเริ่มขึ้นช่วงสายโดยมี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า...มีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 9 คน จาก 16 คน
ประเด็นสำคัญมีว่ากรรมการในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. นพ.สมยศ ศรีจารนัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข และ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประกันสุขภาพ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยได้มีหนังสือแจ้งมายัง สปสช. โดยลงลายมือชื่อทั้ง 5 คนไว้เป็นหลักฐาน
นพ.ยุทธ บอกว่า ได้รับเชิญจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ให้เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งคิดว่าคงต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของสองฝ่าย ดังนั้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขว่า กรรมการแต่ละฝ่ายต้องมีสัดส่วนที่เท่ากัน
“จากที่ สธ.ได้ทำหนังสือขอไม่เข้าร่วมประชุม และให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ไม่เหมาะสม และยังจะเป็นการซ้ำเติมหน่วยบริการที่ประสบวิกฤติการเงิน นั่นหมายความว่ากรรมการส่วน สธ.คงไม่เข้าร่วมแน่ และคงไม่เข้าร่วมตลอดไป”
แม้ว่าคณะกรรมการฯจะประชุมในนัดถัดไปคงไม่มีประโยชน์ เพราะทาง สธ.คงไม่มา นพ.ยุทธ โพธารามิก จึงขอลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการฯ
“ผมรับเป็นประธานเพราะอยากให้วินวินทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายต้องลดราวาศอกกันบ้างเพื่อคุยกัน แต่วันนี้คงไม่มีทางคุยกันได้ เพราะอีกฝ่ายไม่ลดราวาศอก จึงมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะประชุม...และโดยมารยาทจึงขอลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการฯ และขอคืนสิ่งเหล่านี้ให้ รมว.สาธารณสุขเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของทั้งสองหน่วยงาน”
การแก้ปัญหาที่ยิ่งจะทำให้มีปัญหา และเป้าของปัญหาก็ดูจะพร่ามัว อาจทำให้การแก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ...ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งระหว่าง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏตามสื่อต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีแล้ว หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า...จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน และควรต้องแก้ปัญหากันอย่างไร
เริ่มจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีงบดุลของ สปสช.เป็นประจำทุกปี และที่ผ่านมาได้ทำการตรวจสอบเฉพาะ สปสช.ส่วนกลาง และ สปสช.เขต แต่สำหรับงบประมาณในปี 54 และ 55 สตง.ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบบัญชีงบดุลของ สปสช.สาขาจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
และได้ออกรายงานของผู้สอบบัญชีลงวันที่ 26 มิถุนายน 56 โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น นำงบค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปใช้ในการปฐมนิเทศบุคลากรที่จบใหม่ ไปเป็นเงินที่นำไปจ้างบุคลากร หรือการใช้เงินค่าเสื่อม ไปใช้เพื่อการก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุงที่พักอาศัยของข้าราชการและเจ้าหน้าที่
สตง.มีความเห็นว่า...การกระทำเช่นนี้เกิดความเสียหายแก่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมเป็นเงิน 560,325,894.35 บาท และเสนอแนะให้มีสำนักงานพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อหาผู้รับ ผิดชอบกับเงินจำนวนดังกล่าว
เหตุผลที่ สปสช.อธิบายต่อ สตง. ได้ยอมรับว่าการใช้เงินบางรายการ ของ สปสช.สาขาจังหวัดไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เช่น การใช้เงินส่งเสริมป้องกันโรคบางรายการ
แต่สำหรับการนำ “งบค่าเสื่อม” ซึ่งหมายถึง “เงินกองทุน” ที่ใช้ในการจัดหาเพื่อการทดแทนหรือซ่อมบำรุง ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่เสื่อมสภาพ จากการให้บริการสาธารณสุขให้แก่ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ สตง.ตีความว่าบ้านพักข้าราชการไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ
คำชี้แจง สปสช.มีความเห็นแย้งว่าบุคลากรทางการแพทย์น่าจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ และการนำไปซ่อมแซมบ้านพักน่าจะชอบด้วยการใช้งบค่าเสื่อม และได้นำเรื่องนี้หารือกับปลัดกระทรวงฯ
กระบวนการแก้ไขตรวจสอบเดินหน้าไปตามขั้นตอน ฟากฝั่ง กระทรวงฯก็เริ่มมีการขยับ...ราวต้นเดือนเมษายน ได้เรียกประชุมผู้ตรวจราชการ นายแพทย์ สสจ. ผอ.รพศ./รพท./รพช.ทั่วประเทศ เพื่อหารือกำหนดทิศทางในการปฏิรูปการบริหารระบบสุขภาพของประเทศ
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ปลัด สธ.ทำหนังสือถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพในการประชุมบอร์ด ในประเด็น สตง.เสนอให้พิจารณา 3 ประเด็น ได้แก่ 1.) ให้ยกเลิกระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของ สปสช.สาขาจังหวัด 2.) ให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไต หรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันที่มีการจ่ายตรงรายบุคคล 3.) ให้ระงับรายการจัดซื้อจากงบค่าเสื่อมในประเด็นที่ สตง.ทักท้วง
ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จะปรับบทบาทในการเข้าร่วมบริการของกองทุนหลักประกันสุขภาพ
ความเห็น ทรรศนะที่แตกต่างสะท้อนเสียงผ่านสื่อออกมาเป็นระยะๆ แต่อยู่ในช่วงการเมืองไม่นิ่ง ยังไม่มีการคืนความสุขเหมือนยุคนี้ ยุคที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง...เสียงสะท้อนจากกระทรวงสาธารณสุขก็พลันเปลี่ยนท่าที จากปัญหาข้อสังเกตของ สตง. เป็น “ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ” ของ สปสช.
พร้อมกับเรียกร้องให้เปลี่ยนวิธีการบริหารกองทุนใหม่ โดยบริหารเป็น “เขตสุขภาพ” และให้ สปสช. เปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดสรรงบประมาณทำหน้าที่จ่ายเงินตามที่เขตสุขภาพกำหนด
วันนี้ กุญแจไขปัญหา...คณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้ผล คงต้องตีกลับไปที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้บังคับบัญชาของทั้งสองหน่วยงาน เร่งเข้ามาช่วยคลี่คลายหรือไม่อย่างนั้น อาจต้องให้ คสช.ยื่นมือเข้ามาคืนความสุขให้กับประชาชน ทากาวปิดรอยร้าว...รูโหว่ระบบบริการสุขภาพคนไทยที่เกิดขึ้นแบบถึงลูกถึงคน
ปมขัดแย้งในระดับบน...แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่งผลโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศ และท้ายที่สุดประชาชนผู้ใช้สิทธิบริการสาธารณสุขจะเดือดร้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้.
- 7 views