22 ธ.ค.57 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานบทความของผู้ใช้นามว่า “ดวงจำปา” เกี่ยวกับความขัดแย้งสธ. ดังนี้

แม้การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ. ขาดทุน ที่ รมว.สธ. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ลงนามแต่งตั้ง โดยเชิญ นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ. เป็นประธาน ด้วยหวังจะใช้บารมีที่มีในปัจจุบันมาเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ จะล้มลงอย่างไม่เป็นท่า หลังการประชุมนัดแรกเมื่อ 19 ธ.ค. ถูกบอยคอตจากตัวแทนฝั่ง สธ. 5 คน ที่มีทั้ง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ., นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. นพ.บัญชา ค้าของ ผอ.กลุ่มประกันสุขภาพ, นพ.สมยศ ศรีจารนัย ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผอ.สำนักการบริหารสาธารณสุข จนที่สุด นพ.ยุทธ ต้องประกาศลาออกและระบุว่า หากยังเป็นเช่นนี้ คงต้องคืนอำนาจนี้ให้ รมว.รัชตะ ตัดสินใจ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.ยุทธ ก็ยังมี key message ที่สำคัญ ซึ่งอาจจะพอเตือนสติให้ทุกฝ่ายได้ฉุกคิดกันบ้าง นั่นคือ “อยากให้ win-win ทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายต้องลดราวาศอกกันบ้าง เพื่อคุยกัน แต่ดูวันนี้แล้วไม่มีทางเป็นไปได้”
ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เหนือการคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่า ระดับ นพ.ยุทธ แล้ว ฝั่ง สธ. น่าจะเกรงใจ แต่จากหนังสือที่ยื่นมาอย่างเป็นทางการ ชัดเจนว่า มหากาพย์ความขัดแย้ง คงยากที่จะจบลงในแบบที่ทุกคนพอใจ

เหตุที่ไม่ง่าย เพราะทั้ง สธ. สปสช. กุนซือ มวลชน และกองเชียร์ พาตัวเองไปติดอยู่ใน zero-sum game ชนะกินรวบ คือ ใครชนะ ชนะทั้งหมด ใครแพ้ แพ้ทั้งหมด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ยอมถอย เปิดหน้าชนทุกรูปแบบ และเดินเกมแบบไม่มีอะไรจะเสีย เพราะไม่อยากเป็นผู้แพ้ที่ต้องสูญเสียทุกสิ่ง

ขณะที่คนที่เคยถูกมองว่าน่าจะเป็นคนกลางที่จะเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งครั้งนี้ อย่าง รมว.รัชตะ ก็ถูกผลักให้กลายเป็นคนของสายแพทย์ชนบท อันเนื่องมาจากหลายเหตุผล ตั้งแต่ทีมงานรอบข้าง ไปจนถึงการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการที่ยังยื้อกันใน 2 ตำแหน่ง และยังลากยาวแบบไม่รู้อนาคตมาจนถึงขณะนี้

ซึ่งกรณีการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ปลัด สธ. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เพราะฝ่ายการเมืองละเมิดธรรมาภิบาลก่อน ด้วยการดัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อน รมช.สธ. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ แรกเริ่มจะดันขึ้นเป็นรองปลัด แต่ถูกประชาคม สธ. สกัด จึงมานั่งที่ตำแหน่งผู้ตรวจราชการ และเมื่อปลัดณรงค์ ดัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ สายผู้ทรงคุณวุฒิ และ นพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ สายผู้ช่วยปลัด ขึ้นเป็นผู้ตรวจ ก็ถูกฝ่ายการเมืองแก้แค้นตีกลับให้มาพิจารณาใหม่ โดยระบุว่า ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล เพราะยังมีคนที่อาวุโสกว่า อย่าง นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่น่าจะได้ขึ้นเป็นผู้ตรวจมากกว่า 2 คน ที่ปลัดเสนอชื่อมา รอขึ้นอยู่

ซึ่งปลัดณรงค์ก็เปิดหน้าชนทันที เพราะหลักที่ปลัดณรงค์ใช้แต่งตั้งผู้ตรวจ คือ อาวุโสจาก 4 สาย เมื่อสายรองอธิบดี คนที่ควรจะได้ขึ้นแท้จริงแล้ว คือ นพ.วันชัย แต่เมื่อการเมืองเลือก นพ.สมศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โควต้ารองอธิบดีก็หมดไป การย้อนศรปลัดณรงค์ ด้วยข้อหาว่าไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล จึงไม่ถูกต้อง

และนั่นทำให้ปลัดณรงค์ยืนยันรายชื่อเดิม ขณะที่การเมืองก็ยืนยันคำเดิมว่าต้องทบทวน

นับแต่นั้นมา ช่องว่างของปลัด และ 2 รมต. ก็ถ่างไปเรื่อยๆ การลงพื้นที่ต่างจังหวัดไม่ปรากฎเงาของปลัดณรงค์ ขณะที่การเมืองแก้เกมด้วยการขนระนาบอธิบดีและรองปลัดลงพื้นที่ นัยว่าเพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่นของ สธ. และลอยแพปลัดณรงค์

แต่เรื่องไม่ง่ายแบบนั้น ประมาณ 3 ครั้งแรกในการลงพื้นที่ของ 2 รมต. ใหม่ ถูกมองเป็นคณะพญาเหยียบเมือง ขนผู้บริหารไปมากมาย ขัดกับหลักเรียบง่ายที่ประกาศไว้ และย้อนเข้าหาตัว แทนที่จะเป็นผลดี จึงกลายเป็นผลเสีย
และทำให้ต่อมา การลงพื้นที่ของ 2 รมต. ใหม่ต้องปรับแผน ไม่ไปแบบตัวติดกัน จากที่เคย มีรัชตะที่ไหน มีสมศักดิ์ที่นั่น จะไม่มีภาพแบบนี้อีกแล้ว จากที่ขนผู้บริหารเพื่อสร้างภาพความแน่นแฟ้น ก็ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่

ขณะที่การทำงานภายใน สธ. ปลัดณรงค์ก็ทำตัวเป็นรัฐอิสระ และเดินสายปลุกใจข้าราชการทวงคืนศักดิ์ศรีที่ถูกย่ำยีไป แม้ฝั่ง รมต. จะใช้กลยุทธ์นิ่ง และหวังจะทำผลงานเข้าสู้ แต่จนบัดนี้ล่วงเลยมากว่า 3 เดือน ก็ไม่ผลงานอะไรจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน ของขวัญปีใหม่ที่เพิ่งประกาศให้ประชาชน ก็ไม่น่าใช่ของขวัญ เพราะเป็นงานประจำที่สธ.ต้องทำอยู่แล้ว แต่ถูกขุดมาเป็นของขวัญให้ประชาชน

นโยบายหมอครอบครัวที่หวังจะสร้างเสียงฮือฮาเมื่อเปิดตัวออกมา ก็กลายเป็นนโยบายที่คนทำงานยังงงๆ ว่าต่างจาก นักสุขภาพครอบครัวยุค นพ.นิทัศน์ รายยวา อดีตรองปลัดอย่างไร หมอครอบครัวที่ว่า เป็นหมอจริง หรือหนีไม่พ้นหมออนามัยเหมือนเดิม

และซ้ำไปอีกกับวันชี้ชะตาตัดสิน เรื่องข้อเสนอจัดสรรงบบัตรทอง ที่ลากยาวกันมานาน และจะมาตัดสินในวันประชุมบอร์ดสปสช. 8 ธ.ค.ที่ปลัดณรงค์นำทีมมาเอง หลังจากที่ห่างหายจากที่ประชุมบอร์ดสปสช.ไปนานนับตั้งแต่ประกาศหันหลังให้กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ยุคนั้น

หลักใหญ่ใจความของข้อเสนอ สธ. คือ ขอให้งบเหมาจ่ายรายหัวแบ่งแค่ 4 แถวพอ ไม่เอา 9 แถวแบบที่บอร์ดสปสช. แบ่ง โดยให้เหตุผลว่า เงินไปถึง รพ. ไม่เต็ม ถูกหักยิบย่อย เกิดวัฒนธรรมสอยเงิน ทำให้ รพ. ขาดทุน และเปิดข้อมูลซ้ำว่า สปสช.เอางบรายหัวไปให้หน่วยงานที่ไม่ใช้รพ.จึงทำให้เกิดปัญหา รพ. ขาดทุน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจได้ว่า เป้าหมายที่แท้จริงของเรื่องนี้ คือ สธ. ต้องการเป็นผู้ตัดสินใจในการใช้งบเอง และขอตัดสินใจระดับเขตสุขภาพ สปสช. ทำหน้าที่โอนเงินตามที่เขตของ สธ. ตัดสินใจเท่านั้นพอ

ซึ่งแน่นอนว่านัยยะของเรื่องนี้คือ การทำลายหลักการ provider-purchaser split หรือหลักการแบ่งแยกผู้ซื้อบริการ และผู้ให้บริการออกจากกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สายแพทย์ชนบท และ เอ็นจีโอ ไม่สามารถยอมได้ เพราะเท่ากับเป็นการถอยหลังกลับไป จากที่จัดสรรเงินตามคน จะกลายเป็นเงินตามเตียงหรือขนาดของ รพ.

ที่สุดเรื่องนี้จบลงที่ รมว.รัชตะ ตัดสินใจยื้อเวลาออกไป และทำตามข้อเสนอให้ทดลองคำนวณแบบที่สธ.เสนอมาใน 2 เขตก่อนตัดสินใจอีกครั้ง แต่ปลัดณรงค์ไม่ยอม เสนอให้ตัดสินใจ และทิ้งหมัดเด็ดว่าจะโหวตก็ได้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ถ้าปล่อยให้โหวต เป็นไปได้สูงที่สปสช.จะแพ้ เพราะบอร์ดส่วนใหญ่ที่เป็นข้าราชการประจำผู้ที่ไม่เคยใช้บัตรทองเห็นด้วยกับปลัดณรงค์

และนั่นทำให้เช้าวันต่อมา ปลัดณรงค์เปิดหน้าชน อัด สปสช. แบบไม่ต้องเกรงใจ รมว.รัชตะ ที่ทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ด สปสช. อีกต่อไป พูดถึงความล้มเหลวของสปสช. ความทุกข์ที่ สปสช. ทำไว้กับผู้ให้บริการ ก่อนจะทิ้งหมัดเด็ดปลุกใจข้าราชการว่า “เหลืออีก 9 เดือน ผมจะเกษียณ ถามว่าหลังจากผมไปแล้ว ท่านจะอยู่กันแบบเดิมหรือ”

ร้อนไปถึงสปสช. อีก 2 วันต่อมา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการและรองอีก 3 คนตั้งโต๊ะแถลง ซึ่งถือเป็นการชักธงรบอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากสงวนท่าทีมาตลอดในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีเพียงเครือข่ายที่ออกมาปกป้อง คำเด็ดในวันนั้นคือ ปลัด สธ. ให้ร้าย สปสช. พร้อมกับพาดหัวข่าวว่า สปสช. สุดทน ปลัด สธ. บิดเบือนข้อมูลให้ร้าย

ซึ่งปลัดณรงค์ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อตอบโต้เรื่องนี้ แต่มีรายงานว่า ได้ส่งเรื่องให้สำนักนายกรัฐมนตรีตรวจสอบสปสช. และคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะรักษาการประชาคมสธ. ว่าจะส่งเรื่องให้ 3 องค์การกลางตรวจสอบ สปสช. คือ ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คสช. ตอกย้ำเข้าไปอีก

ระหว่างนี้ ก็มีกลุ่มผู้ตรวจบุกไปกดดันรมว.รัชตะ จี้ถามว่าข้อสรุปของบอร์ด สปสช. 8 ธ.ค. เป็นมติบอร์ดหรือเป็นมติของประธานบอร์ด ซึ่งดันไปให้ภาพของความก้าวร้าวกับครูบาอาจารย์อย่าง รมว.รัชตะ ซึ่งคืออาจารย์ของหมอๆ ทั้งหลายในสธ. จนถูกมองว่าก้าวร้าวและคุกคาม ขณะที่ รมว.รัชตะ นั้น เล่นบทเตมีย์ใบ้ นิ่ง เงียบ ไม่แสดงความรู้สึก แบบที่ครั้งหนึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

จนผู้ตรวจกลุ่มนี้รู้สึกร้อนตัว ต้องออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ว่าไม่ได้ก้าวร้าว ยังเคารพ อ.รัชตะ เหมือนเดิม

ยังไม่รวม เครือข่ายกลุ่มโรงพยาบาลวิกฤติการเงินระดับรุนแรง นำทีมโดย นพ.อุดมเกียรติ พูนสวัสดิ์ ผอ.รพ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เจ้าเดิมที่ประท้วง สปสช. เขต 12 สงขลา ยื่นให้ รมว.รัชตะ แก้ไขปัญหา รพ. ขาดทุน 136 แห่ง อันเป็นที่มาของการแต่งตั้ง นพ.ยุทธ เป็นประธานกรรมการนั่นเอง

ทุกวันนี้ แม้ว่า รมว.รัชตะ จะพยายามแก้ไขปัญหา แต่ท่านก็ถูกผลักไปอยู่อีกข้างเสียแล้ว อันเนื่องมาจาก ภาวะผู้นำ และการตัดสินใจที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอ เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งฟอร์มทีมงาน ที่ปล่อยให้ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นผูกขาดตั้งแต่ปี 2549 อย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ กดดันจนต้องเปลี่ยนตัวทีมงานบางคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ปิดกันให้แซ่ด และทำให้ชาวประชาคม สธ. งงไม่น้อย และข้องใจว่ากำลังเล่นอะไรกันอยู่ เพราะ 2 ชื่อที่ชมรมแพทย์ชนบทเอามาขึ้น facebook ของชมรมโจมตีว่า เป็นนักวิชาการโลกสวยนั้น ชาวประชาคม สธ. ก็มองว่าเป็นเครือข่ายแพทย์ชนบทเหมือนกัน กระทั่ง นพ.รัชตะ ยังถูกชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังสัยเรื่องการควบ 2 ตำแหน่งเข้าให้ด้วย
แต่เมื่อ รมว.รัชตะ และ รมช.สมศักดิ์ ยอมให้ นพ.เกรียงศักดิ์ กดดันได้ เพราะไม่อยากถูกกระแสค้านจากชมรมแพทย์ชนบท ราคาที่ต้องจ่ายคือ ความเป็นกลางของ รมต. ที่จะมาแก้ความขัดแย้งหายไป ตั้งแต่ยังไม่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ และเป็นราคาจ่ายที่แพงมากด้วย (นี่ยังไม่นับกับทีมงานใกลชิดที่ล้วนเป็นเครือข่ายแพทย์ชนบททั้งสิ้น)

เพราะต้องไม่ลืมว่า คู่ขัดแย้ง นอกจาก สป.สธ. และ สปสช. แล้ว ยังมีชมรมแพทย์ชนบทที่คอยสุมไฟสร้างความร้าวฉานไปทั่ว สธ. ไล่มาตั้งแต่ค่าตอบแทนเหมาจ่าย ที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพจนทุกวันนี้ แม้ปลัดณรงค์จะแก้ด้วย P4P ซึ่งเป็นสูตรที่ สวรส. คิดขึ้นมา ก็ถูกค้านอย่างรุนแรง กลายเป็น ประดิษฐ-ณรงค์ get out นำไปสู่การประกาศไล่ปลัดณรงค์คนนี้ให้ได้ และค้านนโยบายเขตสุขภาพของปลัดณรงค์ แบบหัวชนฝา ก่อนจะพักรบจับมือกันหลวมๆ ชั่วคราว เมื่อครั้งไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อันที่จริง สูตร P4P และเขตสุขภาพนั้น กำเนิดมาจาก สวรส. ขุมกำลังวิชาการของตระกูล ส. แต่เมื่อถูกแพทย์ชนบทคัดค้าน ฝั่งตระกูล ส. กลับเงียบกริบ ปล่อยให้ปลัดณรงค์เผชิญชะตากรรมอย่างเดียวดาย

ถามว่า ฝั่งตระกูล ส. รู้ตัวหรือไม่ว่า ชมรมแพทย์ชนบทยุคนี้เสื่อมมนต์ขลังลงแล้ว ต้องบอกว่ารู้ตัว แต่ไม่ยอมรับ หลักฐานคือ ชื่อของคนในชมรมแพทย์ชนบทที่เอามาใช้งานออกสื่อให้ความเห็นเรื่องอภ. เรื่องความขัดแย้ง สธ. สปสช. เป็นชื่อ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผอ.รพ.ชุมพวง และ นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ผอ.รพ. 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ เพราะยังพอขายได้ทางหน้าสื่อ และไม่สร้างความร้าวฉานเท่ากับชื่อ ประธานชมรม
แล้วทางออกจากความขัดแย้งครั้งนี้ต้องทำอย่างไร

ณ เวลานี้ มีอยู่ทางเดียว คือ แบบที่ นพ.ยุทธ ระบุไว้ว่า ต้อง win-win และลดราวาศอก แต่คำถามสำคัญกว่านั้นคือ จะทำอย่างไร เมื่อทั้ง 2 ฝั่ง กำลังห้ำหั่นกันอย่างไม่ลดราวาศอกกันอยู่ตอนนี้

ต้องเริ่มที่ นพ.รัชตะ ต้องงัดเอาภาวะผู้นำขึ้นมาใช้เสียที ประสบการณ์ของการเป็นนักบริหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ก็พอจะบอกได้ว่า นพ.รัชตะ นั้นไม่ธรรมดา แต่แรกๆ อาจจะไม่คุ้นชินกับการเมืองใน สธ. ครั้งนี้ นพ.รัชตะ ต้องเสนอชื่อ 2 ผู้ตรวจราชการที่ปลัดณรงค์ เสนอเข้าครม.เสีย ยิ่งยื้อไว้ก็มีแต่เสียทุกฝ่าย

ต่อจากนั้นสนับสนุนนโยบายเขตสุขภาพของปลัดณรงค์อย่างจริงจัง ซึ่งต้องไม่เฉพาะ รมว.รัชตะ แต่ต้องรวมถึง รมช.สมศักดิ์ ด้วย เพราะคนนี้ก็เป็นคู่ขัดแย้งตัวฉกาจที่ถูกมองด้วยซ้ำไปว่า เป็น รมว.ตัวจริง นพ.สมศักดิ์ ไม่เคยพูดเรื่องเขตสุขภาพออกสื่อ ทิศทางปฏิรูประบบสุขภาพของนพ.สมศักดิ์มีมากมาย แต่ในนั้นไม่มีเขตสุขภาพ

ส่วนผู้ที่คัดค้านเขตสุขภาพของปลัดณรงค์หัวชนฝา ขอให้เปลี่ยนคำนิยามเรื่องเขตสุขภาพเสียใหม่ แท้จริงแล้ว เขตสุขภาพของปลัดณรงค์ในยุคเริ่มต้นนี้ คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สาขาเขตนั่นเอง มีหน้าที่ขับเคลื่อนทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อประสิทธิภาพบริการ ให้ประชาชนเข้าถึง ให้ทันกับที่ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึง

ณ เวลานี้ ยังไม่มี กลไก กฎเกณฑ์ ระเบียบอะไรมารองรับทั้งสิ้น การตัดสินใจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหาร เขตไหนได้คนเก่งก็โชคดีไป แต่อย่างน้อยเขตไหนทำผลงานไม่ได้เรื่อง ก็น่าจะมีความรู้สึกว่าถูกทิ้งต้องเร่งทำผลงานกันบ้าง
ซึ่งเขตสุขภาพ 2 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการนั้นสำเร็จ และนี่จะเป็นผลงานที่มีชื่อของนพ.ณรงค์จารึกไว้ แม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว ในฐานะผู้ที่ผลักดันอย่างไม่ลดละ แต่เรื่องของการกระจายอำนาจยังห่างไกล

ส่วนเรื่องปัญหาการจัดการงบประมาณนั้น รมว.รัชตะ ต้องโชว์ฝีมือ ให้สปสช.ต้องถอยและทบทวนในเรื่องที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ที่ สปสช. ทำพลาดจริง แต่หลักการ provider-purchaser split ต้องคงอยู่

ถอยและทบทวนอะไรบ้าง เช่น กองทุนย่อย มีบางกองทุนที่มีปัญหาจริง ไม่ได้บอกให้ยุบ แต่ทำให้มีประสิทธิภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมกับคนของสธ.ให้มากๆ ตั้งแต่ สสจ. ไปจนถึง รพศ./รพท. เพราะมีหลายแห่งที่รู้สึกว่า สปสช.ทำข้ามหน้าข้ามตา รวมถึงวิธีการคิดงบรายหัวที่อาจต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่ บางพื้นที่ไม่มีปัญหาโรคนี้ ก็อาจต้องจัดงบเหมาจ่ายคืนให้พื้นที่นี้ ไม่ใช่ตั้งไว้กองกลางเสียหมด เป็นต้น

ส่วนการให้งบกับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้ ปลัดณรงค์เล่นไม่ถูกจุด ที่ต้องเล่นคือ ความมีเหตุผลของการให้งบนั้นว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ปลัดณรงค์ตระหนักอยู่บ้าง

เพราะจากข้อมูลของสปสช.ระบุว่า ในปี 2557 สป.สธ. ไม่ขอใช้งบตรงนี้ ต่างจากปี 2555 และ 2556 ที่ สป.สธ. มีสัดส่วนใช้งบนี้ประมาณปีละ 30 - 40 ล้านบาท แต่เมื่อรวมทั้ง 3 ปี คือ งบส่วนนี้ 600 ล้านบาท สธ. รวม สป.สธ. และกรมต่างๆ ใช้ไปแล้ว 500 ล้านบาท ที่เหลืออีก 100 กว่าล้านบาท เป็นมูลนิธิ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ปลัดณรงค์งัดข้อมูลมาเล่น หวังกระทบชิ่งโจมตี รมว.รัชตะ จาก ม.มหิดล และ รมช.สมศักดิ์ จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาตินั่นแหละ แต่การณ์กลับเป็นว่า สธ.เหมาไปเสีย 500 ล้านบาท

ส่วนสาเหตุที่ต้องให้ รมว.รัชตะ ทำให้เห็นก่อน เพราะต้องทำให้ปลัดณรงค์ รู้สึกว่าได้บ้าง เพราะตอนนี้ปลัดณรงค์เสียทุกอย่าง มีดีอย่างเดียวคือคนในสธ.ยังรักและหนุน

เมื่อปลัดณรงค์ได้บ้างแล้ว ต่อจากนี้ ปลัดณรงค์ ก็ต้องยอมถอย เรื่องที่จะเอางบไปดูเองนั้น ต้องยกเลิกไปเลย สธ.ไม่สามารถถวิลหาอดีตอันรุ่งโรจน์สมัยที่กำงบมหาศาลเองได้อีกแล้ว ตอนนั้น สธ. รุ่งโรจน์ รพ. ไม่ขาดทุน ผู้ให้ทำงานไม่หนักก็จริง แต่ประชาชนลำบากมากๆ ในเมื่อนี่เป็นงบประมาณแผ่นดิน เป้าหมายมีไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ได้มีไว้เพื่อทำให้ รพ. ไม่ขาดทุน ผู้ให้บริการมีความสุข 2 อันนี้เป็นเป้าหมายรอง ถ้าอยากทำ สธ. ต้องไปของบประมาณจากรัฐบาลเอง ไม่เกี่ยวกับงบบัตรทองที่มาใช้รักษาคน

สิ่งที่ปลัดณรงค์ต้องตระหนักคือ ข้อเสนอนี้ทำให้คนไข้บัตรทองอนาถา ถึงจะรักษาฟรี แต่ถ้าต้องรอคิวจนตายไปก่อน เพราะ รพ. ขาดทุน รักษาไม่ได้ด้วยเหตุงบไม่พอ แม้ สธ. จะยืนยันว่าไม่ใช่ แต่การจะดึงเอาเงินไปจัดสรรเอง เท่ากับถอยหลังกลับเป็นแบบเดิม

แน่นอนว่า 12 ปี ของการมี สปสช. มีเรื่องผิดพลาดมากมาย แต่ต้องตีตรงจุดที่พลาด และแก้ไข ไม่ใช่การล้มระบบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปลัดณรงค์ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เพราะเล่นเกิมชนะกินรวบ

ด้วยรักและหวังดี คนดี คนตรงแบบท่าน มุ่งพัฒนาเขตสุขภาพสร้างชื่อก่อนเกษียณจะดีกว่าเล่นเกมกินรวบนี้

ระหว่างที่กำลังเมาหมัดกันอยู่นี้ ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายตระหนักในภารกิจของตัวเอง จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นมาก สธ. คือ ตัวแทนของผู้ให้บริการ สปสช. คือ ตัวแทนของประชาชนผู้ซื้อบริการ ภารกิจที่ผ่านมา มีตรงไหนที่ล้วงลูกก้าวข้ามภารกิจกันหรือไม่ ก็ทบทวนและถอยกันบ้าง

ส่วนการใช้บริการกองหนุนเพื่อห้ำหั่นกันนั้น สปสช.ต้องเลิกใช้บริการชมรมแพทย์ชนบทยุคนพ.เกรียงศักดิ์เสียที เพราะมีแต่สร้างความร้าวฉาน นพ.เกรียงศักดิ์ต้องถอยเพื่อชาติ ไม่ลงเลือกตั้งเป็นประธานชมรม ไม่เช่นนั้น ชื่อชมรมแพทย์ชนบทที่สั่งสมคุณงามความดีมายาวนาน จบสิ้นในยุคนี้แน่นอน ผู้ใหญ่ที่หนุนชมรมแพทย์ชนบทยุคนี้ ที่ถูกสื่อจัดอยู่ในสายฮาร์ดคอร์ คือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน และนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ต้องใช้บารมีที่พอมีอยู่ ทำให้ชมรมแพทย์ชนบทมีธรรมาภิบาลให้ดีก่อนที่จะไปโจมตีคนอื่นว่าไม่มีธรรมาภิบาล

ส่วนประชาคม สธ. กองหนุนปลัดณรงค์ แม้ยังไม่เชี่ยวชาญเท่า แต่คงต้องยุติบทสร้างความขัดแย้งชั่วคราวเช่นกัน

หาก นพ.รัชตะ หวั่นเกรงว่าลำพังตัวท่านคงไม่พอที่จะมาห้ามศึกนี้ได้ ยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกที่พอจะทำให้ทั้ง 2 ฝั่ง ลดราวาศอกกันได้บ้าง แต่คงต้องทำอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ออกสื่อ คนนั้นคือ นพ.มงคล ณ สงขลา ผู้มากบารมี ที่ยังประคองตัวอยู่ได้ และอาจจะเป็นผู้ใหญ่สายแพทย์ชนบทเพียงคนเดียวที่ปลัดณรงค์ยังนับถืออยู่ในตอนนี้ แม้จะเป๋ไปบ้าง จากเหตุการณ์เก่าที่ถูกประชาคมสธ.งัดเอกสารโชว์หลักฐานการดัน นพ.ณรงค์ สมัยเป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรคขึ้นมาเป็นรองปลัด แต่ด้วยคนที่ถูกดัน มีภาพของน้ำดี จึงรอดตัว และทำให้ นพ.ณรงค์ ถูกขุดขึ้นมาจากกรุจนเติบโตได้จนถึงทุกวันนี้

หากผู้ใหญ่ทั้งหลายที่อยู่ในวังวนความขัดแย้งครั้งนี้ ไม่ยึดยุทธศาสตร์ ที่นพ.ยุทธ ให้ทางสว่างไว้แล้ว คือ วิน-วิน และเดินตามยุทธวิธี ลดราวาศอก หลังปีใหม่นี้ โมเดลที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อให้สธ.สงบ คือ “เอาไปเก็บให้หมด” เพราะหลัง 2 รมต.รับตำแหน่งใหม่ๆ คสช. เริ่มสงสัยแล้วว่า สธ. ทำไมจึงไม่สงบ ผ่านมาหลายเดือนก็ยังไม่สงบ แถมยังหนักกว่าเดิม หลังปีใหม่จึงเป็นช่วงเวลาของการจัดการให้สงบ อาจจะปรับครม.ใหม่ อาจจะย้ายข้าราชการ

เริ่มจาก 2 รมต. ที่นอกจากแก้ขัดแย้งไม่ได้ ยังไร้ผลงาน และเป็นตัวเสริมแรงความขัดแย้งเข้าไปอีก ไปจนถึง ปลัดณรงค์ ที่เดินเกมแบบไม่มีอะไรจะเสีย ด้วยการท้าทายผู้บังคับบัญชา

แต่ที่ฝั่งสปสช.กังวลกันในเวลานี้คือ คำพูดหยอกเย้า ของ นพ.ยุทธที่ว่า อาจจะเป็นสูตร 2 (รมต.และ ปลัด)+1 คือเด้ง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ผู้มีบุคลิกประนีประนอม ไปด้วย เพื่อให้เสมอภาคกัน แต่ถ้าจะให้ดี ต้องกระซิบบอกคสช.ว่า ต้องเด้งรองเลขาธิการทั้ง 4 ไปด้วย จึงจะถือว่าถอนรากความขัดแย้งได้จริง เพราะกุนซือที่มีส่วนขับเคลื่อนไปสู่เกมกินรวบที่สำคัญ คือ รองเลขาธิการ 3 คน คนสำคัญ คือ นพ.ประทีป ที่ทำให้ สธ. เจ็บใจเล่นมาตั้งแต่ ตีหน้าซื่อสนองคำขู่สธ.ช่วง เม.ย. 57 ว่า สธ. อาจจะพิจารณายกเลิก สสจ. ไม่ให้เป็นสปสช.จังหวัด ซึ่ง สปสช. ก็ยกเลิกจริง ส่วนรองเลขาธิการอีก 1 คนนั้น มีคนของการเมืองเก่าที่ควรจะถูกถอนรากถอนโคนไปนานแล้ว

หากเป็นสูตรนี้ ความสงบอาจจะมาเยือนชั่วคราว เพราะตัวจักรความขัดแย้งไปหมด แต่ยังเหลือ ชมรมแพทย์ชนบทไว้ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เป็นที่พอใจของของคนในสธ. ดังนั้น ความขัดแย้งสธ.ก็จะประทุขึ้นอีก นาทีนี้ ก็ต้องถามใจท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายว่าจะทำอย่างไร จะแก้กันเอง หรือจะให้ คสช. แก้ตามสูตร “เอาไปเก็บให้หมด” ขึ้นอยู่กับท่าน

ส่วนชาวสาธารณสุขนั้น ในฐานะหญ้าแพรกที่แหลกลาญมาหลายครั้งเพราะช้างสารชนกันไม่หยุด นาทีนี้ ของขวัญปีใหม่ที่อยากได้ที่สุด คือ ลดราวาศอกกันบ้างเถอะ

และหวังว่าช่วงเวลาอันน้อยนิดก่อนปีใหม่นี้ คงจะได้เห็นสัญญานดีๆ เกิดขึ้นบ้าง